http://issuu.com/demo-crazy/docs/volume25
บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ ในวารสารประชาธิปไตย Demo-Crazy เล่มที่ 25
ความเห็นกับการขยายเวลาใช้ทุนผลิตแพทย์เพื่อชนบท…
(1)
ประเทศไทย แทบจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่หมอเรียนจบใหม่ ต้อง ใช้ทุน…
ภายใต้แนวคิดว่าเป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ของระบบการเรียนการสอนแพทย์ในประเทศไทย ที่อยากให้คนเรียนจบแพทย์ทุกคนตอบแทน ด้วยการเอาพลังชีวิตไปใช้ในต่างจังหวัดอย่างเต็มที่หลังเรียนจบ เป็นการทดแทนคุณแผ่นดิน ประมาณ 1-3 ปี ถือว่าได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดี ได้ฝึกหัดการตัดสินใจในการรักษา เพื่อเป็นแพทย์ที่เก่ง ดี มีทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วยที่ดีมากขึ้นในอนาคต
และอาชีพหมอ เป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพในประเทศไทย ที่เรียนจบมา ต้อง(ถูกบังคับให้) ใช้ทุน
แม้กระทั่งโรงเรียนแพทย์เอกชนที่โฆษณาว่าเรียนจบไม่ต้องใช้ทุนใคร เอาเข้าจริง ก็เป็นการหลอกลวง เพราะ คนเรียนจบแพทย์เอกชนก็ต้องบากบั่นขอความเมตตาระบบรัฐ เพื่อเข้ามาใช้ทุน และด้วยความมุ่งหวังจริงๆไม่ต่างกับคนเรียนแพทย์รัฐบาล
…คือ ตั้งใจไปใช้ทุน เพื่อ ใบเพิ่มพูนประสบการณ์
ใบเพิ่มพูนประสบการณ์ (หรือชื่อเรียกอื่นๆต่างๆกัน) เป็นยอดใบศักดิ์สิทธิ์สำหรับแพทย์จบใหม่ทุกคน ที่ต่างมุ่งหวังใช้ทุนให้ได้ครบ 1 ปี เมื่อครบ 1 ปี ได้ใบมหัศจรรย์นี้แล้ว จะลาออก ชดใช้เงิน หรือหนีไปอยู่เอกชน ย่อมทำได้ สบาย สบาย
ใบศักดิ์สิทธิ์ นี้ มีประโยชน์ตรงที่ว่า ไว้ใช้สมัครเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางในสาขาส่วนใหญ่ ถ้าไม่มี… หมดสิทธิ์
เพราะฉะนั้น ขอเสนอหนทางง่ายๆ เชิงกฎระเบียบ ที่ไม่อยากให้แพทย์ลาออกก่อนกำหนด
คือ ควรปรับให้ใบเพิ่มพูนประสบการณ์ เมื่อทำงานครบ 2 ปี หรือ 3 ปี ขึ้นไป…
(2)
ข่าวที่ดังช่วง ตุลาคม 2554 นี้ เกี่ยวกับ การปรับขยายเวลาใช้ทุนผลิตแพทย์เพื่อชนบท คือ จาก 3 ปี ให้เป็น 6 ปี และถ้าลาออกก่อนต้องใช้เงินรัฐบาลจำนวน 1 ล้านบาท
เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดทาง เพราะจะทำให้คนส่วนใหญ่ที่ต้องการลาออกก่อนกำหนด รีบไปหาเงินในระบบโรงพยาบาลเอกชน เพื่อมาใช้หนี้ และ ยอมเสียเงินลาออกไปในที่สุด จะไม่มีใครยอมใช้ทุนถึง6ปีก่อนไปเรียนต่อเฉพาะทาง เพราะปกติ 6ปี นั่นหมายถึงเวลาทั้งหมดในการใช้ทุน+การเรียนต่อเฉพาะทางจนจบ ไม่มีใครอยากเรียนหมอให้นานกว่าเดิม เพื่อจบเฉพาะทางมา ตอนอายุ 40 ปี และมีเวลาทำงานจริงอีก 20 ปี เท่านั้น
และจริงๆ การบังคับใช้ที่ออกมานี้ เป็นการบังคับใช้เฉพาะกับแพทย์ที่เรียนในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กดี กลุ่มเด็กชนบทไม่มีเส้นสายใคร และเป็นกลุ่มที่ลาออกกันน้อยอยู่แล้ว ไม่ได้บังคับใช้กับคนเรียนจบแพทย์ส่วนใหญ่ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอัตราลาออกมากกว่า 2 เท่าตัว แต่เผอิญเป็นเด็กลูกหม้อสถาบันเก่าแก่หลายสถาบันที่กระทรวงเองก็ไม่กล้าไปทำ อะไร
ทางออกที่เป็นข่าวมานี้ เลยเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ และยังไม่กล้าจะแก้ให้เท่าเทียมกันทุกสถาบันอีกด้วย เป็นการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มลูกภรรยาน้อย
เลยอยากเสนอหนทางแก้ปัญหาปลายเหตุ ให้เสมอภาคทุกกรณี ขึ้นมาหน่อย คือ ไปเพิ่มระยะเวลาการทำงาน เพื่อได้ใบเพิ่มพูนประสบการณ์สิ
ทีนี้ไม่มีใครลาออกก่อนแน่ๆ เพราะจะเรียนต่อเฉพาะทางไม่ได้เลยในชีวิตนี้
(3)
เคยพูดหลายครั้งว่า วงการแพทย์ไทยชอบลอกเลียนตามก้นฝรั่ง
เรื่องนี้ก็เช่นกัน ถ้าพูดถึงระบบของต่างประเทศ แพทย์เรียนจบต้องมีช่วงเวลาเป็นแพทย์ปฏิบัติการและมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแ ต่ละเครือ เป็นช่วงได้ฝึกหัด และเพิ่มพูนประสบการณ์
ของไทยก็อยากให้เพิ่มพูนประสบการณ์ แต่มีข้อแม้คือต้องส่งไปต่างจังหวัดเท่านั้น เป็นเรื่องที่มาจากปัญหาหลายอย่างในสภาพสังคมเรา ปัญหาการกระจุกอำนาจและความเจริญในกรุงเทพเพียงที่เดียว ความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นและการรับการรักษา จึงมีมากขึ้น แม้หมอต่างจังหวัดไม่ได้โง่กว่าหมอกรุงเทพ แต่ คนจบหมอนิยมเข้ากรุงเทพเพื่ออำนาจเชิงระบบ (เช่นคนที่ทำงานกระทรวง) เพื่ออำนาจทุน (เช่น โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก) เพื่ออำนาจทางวิชาการ (เชื่อว่าอยู่กรุงเทพ ตามก้นฝรั่งทางวิชาการได้ง่ายกว่า) เพื่ออำนาจเชิงคุณค่าของตนเอง ที่คิดว่ามีห้างใหญ่ๆให้เที่ยว มีเงินให้ซื้อของใช้ที่ต้องการได้ คิดว่าไฮโซและไฮเทคกว่าอยู่ต่างจังหวัด(แต่จริงๆไม่ต่างกัน) มีสภาพความเป็นอยู่แบบชาวเมือง …เป็นระบอบวัตถุนิยมที่ประชาชนทั่วไปของเราก็ชื่นชอบ ทำไมหมอจะเป็นอย่างนั้นบ้างไม่ได้?
ก็เลยเป็นธรรมดาในประเทศที่มีความเลื่อมล้ำทางชนชั้น และความคิดเชิงวัตถุนิยมอย่างสูง จะมีระบบการเรียนการสอนแพทย์ที่ผิดเพี้ยนไปเช่นนี้…
ในกระแสทุนนิยมปัจจุบัน หมอที่ลาออกก่อนใช้ทุนครบ เพื่อไปอยู่คลินิกผิวหนังรายได้ดี งานไม่เหนื่อย ไม่ต้องอยู่เวรอยู่กรรมในโรงพยาบาลรัฐดึกดื่น ตื่นหกโมงเช้า เลิกงานหกโมงเย็น เป็นประจำ นั้น จะถูกประณามว่าไม่มีจิตสำนึกในการทำงานเพื่อชาวชนบท แต่เขาอ้างว่า ในบริบทของเขา คือ เขาต้องการความสบายกาย, สบายใจ, รายได้ตอบแทนสมเหตุสมผลไม่น้อยเหมือนในระบบรัฐบาล, ไม่ต้องมาคอยรับใช้งานที่แพทย์อาวุโสบางท่านชอบโยนให้ทำเป็นกรรมกรอยู่โดยโต ้เถียงขัดแย้งไม่ได้, รู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นในแง่ของระบบชนชั้นทางการแพทย์ ฯลฯ
เรื่องประเด็นทางเศรษฐกิจนั้น จะยกตัวอย่างบางประการให้ฟัง แพทย์ผ่าตัดที่อยู่ระบบรัฐ ผ่าตัดไส้ติ่ง ช่วยคนไข้รอดชีวิต เพื่อได้ค่าหัตถการ เพียง 600 บาท ชีวิตคนที่เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบยังมีมูลค่าน้อยกว่าการไปรักษาสิวคลินิกผิวห นัง เพียง 1 ครั้ง คือ ความอเนถอนาถของระบบสาธารณสุข
ขอโทษครับ ตั้งแต่สมัย30บาทอภิมหาโครงการประชานิยมของทักษิณ ที่ทำให้คุณภาพการรักษาตกต่ำลง คนไข้มาโรงพยาบาลเยอะขึ้น ความต้องการสูงขึ้น ความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์น้อยแต่ความต้องการมาก จำนวนหมอประสบการณ์มากในระบบรัฐจึงลดลงเพราะลาออกหมด เหลือแต่หมอมือใหม่ ทรัพยากรต่างๆก็ขาดแคลน เพราะรัฐบาลให้ทุนสนับสนุน น้อย ค่าชีวิตประชากรรายหัวต่อปีที่รัฐบาลจ่าย ต่ำกว่าเงินที่ต้องจ่ายให้บริษัทมือถือของทักษิณในอดีต
มาสมัยประชาธิปัตย์ ก็ได้ซ้ำเติมให้แย่ลง โดยการให้การรักษาฟรีทั้งประเทศ คนไข้มาถล่มทลาย ของฟรีใครๆก็ชอบ ไม่ได้ใส่ใจว่าหมอพยาบาลทำงานหนักจนไม่ไหวก็ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนที่ผู ้ถือหุ้นใหญ่คือเครือทักษิณ และนักการเมือง ทั้งสิ้น
ทุนใหญ่ๆ จึงดึงหมอไปอยู่เอกชนกันหมดเป็นธรรมดา เพราะสบายกาย สบายใจ ทำงานมีระบบที่ดีขึ้น รายได้ตอบแทนมากขึ้น คนไข้มีการศึกษาพูดคุยเข้าใจง่ายขึ้น ความเสี่ยงฟ้องร้องต่ำลง เรื่องนี้ไม่จำกัดเฉพาะคนที่ลาออกในต่างจังหวัดเท่านั้น หากพิจารณาอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆ กรุงเทพ หลายที่ ก็จะเห็นทั้งตัวอย่างที่ดี และตัวอย่างที่ไม่ดี ที่บางประเภท ไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนอยู่เนืองๆ แม้จะเป็นเวลาราชการก็ตามที ส่วนงานประจำโยนให้แพทย์ประจำบ้าน(แพทย์ที่กำลังเรียนต่อเฉพาะทาง) ทำทั้งหมด
ในเมื่อสังคมกำลังจะล่มสลาย ความเสื่อมทางศีลธรรมสูงสุดในยุคนี้ โจรและผู้ก่อการร้ายครองประเทศ อย่าแปลกใจที่วงการสาธารณสุขไทยก็กำลังจะล่มจมไปพร้อมๆกัน
เราอยู่ในวัฏจักรแห่งความเสื่อมสุดแล้ว เร่งผลิตแพทย์เพิ่มเพราะคิดว่าขาดแคลนในชนบท แต่จบมาก็อยู่กระจุกกรุงเทพแบบเดิม, คนเรียนแพทย์เพราะคิดอยากเปลี่ยนชนชั้น และรายได้ที่มั่นคง, การผลิตแพทย์ที่ควบคุมคุณภาพได้ลำบาก เพราะมีมากสถาบันเกินไป และยังเหยียดสถาบันกันเองอีก, ระบบการเรียนต่อเฉพาะทางที่ใช้เส้นสายศักดินาอุปถัมภ์เท่านั้น, แพทยสภาที่เต็มด้วยอาจารย์แพทย์ผู้มีอุดมการณ์และความหวังดี แต่ไม่มีอำนาจเชิงระบบจะทำอะไรได้มาก ฯลฯ
ทางแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนในชนบท? ไม่ง่ายครับ… ในบริบทสังคมไทยเช่นนี้ ผมคิดว่าต้องมี “องค์กร” ที่สามารถกระชับอำนาจในวงการแพทย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และให้มีความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎระเบียบกับแพทย์ทุกที่ได้เหมือนกัน โดยไม่เลือกสถาบัน ไม่เลือกเส้นสาย ไม่เลือกปฏิบัติครับ.
วารสาร DEMO-CRAZY เล่ม 25 – แสงธรรม ชุนชฎาธาร บรรณาธิการ
[issuu width=550 height=389 titleBarEnabled=true backgroundColor=%23222222 documentId=120215162533-75ae2e5f2aba47809a1c1a47ab0113bb name=volume25 username=demo-crazy tag=democracy unit=px id=fba3f43c-5bab-0937-ccbd-8ebc87417184 v=2]