• About (Eng)
  • Introduction to Bloggla.com
  • Multimedia
  • ชเนษฎ์ ศรีสุโข เว็บไซต์ส่วนตัว หมอ ต้นกล้า Chanesd Srisukho
  • รู้จักคุณหมอชเนษฎ์
    • Education & Work
    • การศึกษาและงาน
    • เกียรติประวัติและกิจกรรม

MD. Dr. Chanesd Srisukho นายแพทย์ ชเนษฎ์ ศรีสุโข หมอกล้า Dermatology

ประวัติ นายแพทย์ ชเนษฎ์ ศรีสุโข

ปานเสถียรกุล

นามสกุลหนึ่งในประเทศไทย

ในเฉพาะเจาะจง กล่าวถึง พญ.บุญเชียร ปานเสถียรกุล

ประวัติศาสตร์รังสิต : History of a medical college [Thai]

July 16, 2011 by Gla 3 Comments

เพื่ออรรถรสในการชมควรขยายหน้าจอให้ใหญ่ขึ้น หรือกดคลิกสองครั้งในจอข้างล่าง


 

 

ประวัติศาสตร์การพัฒนาคณะแพทย์เอกชนแห่งหนึ่ง

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี เพื่อการพัฒนาคุณภาพสถาบันที่พวกเขารัก…

จากที่ไม่เคยมีอะไร จนได้มีทั้งหลักสูตร อุปกรณ์ คณาจารย์ สถานที่ และผลการสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม จากยอดผู้สอบผ่าน 10% เป็นอันดับสุดท้ายของประเทศไทย ขึ้นมาในระดับ 60-70% ได้

ทั้งหมดล้วนเพราะการสนับสนุนจาก ศ.(คลินิก)พญ.บุญเชียร ปานเสถียรกุล มารดาผู้รักและเมตตานักศึกษา ผลักดันการเรียน การจัดกิจกรรมวิชาการและกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคมในหลายภาคส่วน การจัดค่ายในชนบท การจัดงานกีฬาในวงการแพทย์ ตลอดจน การคอยแก้ปัญหาต่างๆทั้งเรื่องส่วนรวมขององค์กรและเรื่องเดือดร้อนของนักศึกษา  การผลักดันสิทธิในการจับฉลากเพิ่มพูนทักษะและสมัครแพทย์พี่เลี้ยงร่วมกับแพทย์ของรัฐบาล (ซึ่งต่อมาหลังท่านเสียชีวิตเกิดปัญหาผู้ใหญ่ในภาครัฐตัดสิทธิ์คณะแห่งนี้ทั้งหมด แต่เกิดการผลักดันของนักศึกษาให้จับฉลากได้ในเวลาต่อมา)…

[คลิกเพื่ออ่านต่อ Read more…]

Posted in: ข่าว, ยอดนิยม, รังสิต, วงการแพทย์, สถานการณ์บ้านเมือง, ส่วนตัว Tagged: Boonchian, Rangsit, กรมการแพทย์, การพัฒนา, การศึกษา, คณะแพทย์, จับฉลาก, บุญเชียร, ประวัติศาสตร์, ปานเสถียรกุล, รังสิต, วงการแพทย์, เพิ่มพูนทักษะ, เรียนต่อ, เรื่องจริง, แพทย์พี่เลี้ยง, แพทย์รังสิต, แพทย์เฉพาะทาง

กล่าววันพระราชทานเพลิงฯ อ.บุญเชียร

September 21, 2008 by Gla 6 Comments

ท่านประธานในพิธี ท่านคณาจารย์ ท่านแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน และนักศึกษา-ลูกๆของอาจารย์บุญเชียรทุกคน

กระผมนายชเนษฏ์ ศรีสุโข ตัวแทนนักศึกษาแพทย์

ใคร่ขอกล่าวความในใจที่พวกเรามีต่อคุณแม่บุญเชียร

SL707551

อาจารย์บุญเชียรครับ ท้องฟ้ามืดครึ้ม เมฆดำทะมึน ละอองน้ำโปรยลงมาจากเบื้องบน…เพราะมัน เป็นหน้าฝนนะครับอาจารย์ ท้องฟ้าที่มืดครึ้มนี้ไม่ต่างจากหัวใจของพวกเรา-ลูกๆที่อาจารย์รักและเอาใจใส่เปรียบดังลูกในไส้ของท่านอาจารย์

อาจารย์ครับ พวกเราไม่พบอาจารย์มาเป็นสัปดาห์ๆ ไม่ทราบว่าอาจารย์เจ็บป่วยหนักหนาเพียงใด แต่ถ้อยคำที่อาจารย์ส่งมาถึงพวกเรา ยังเป็นห่วงพวกเราหนักหนา บอกให้พวกเราขยันเรียน ตั้งใจ เพื่อการสอบให้ผ่านให้ได้ คำพูดสุดท้ายที่ได้กล่าวกับผม คือ “ไม่ต้องมาเยี่ยมเด็ดขาดนะ”

อาจารย์ครับ นับตั้งแต่วันนี้ไป เวลาเรามีปัญหา เราจะไปเล่าปัญหาให้ใครฟังได้อีก เหมือนที่อาจารย์จะสั่งสอน ให้กำลังใจด้วยเสียงอันดัง แต่เปี่ยมด้วยความเมตตา ช่วยเหลือนักศึกษาทุกคน เป็นทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง อย่างเต็มที่ อย่างสุดความสามารถ

ผมเป็นนักศึกษาคนหนึ่ง ที่ชอบไปหาปรึกษาอาจารย์ครับ อาจารย์ไม่เคยถือยศถาบรรดาศักดิ์ อาจารย์ให้ความใกล้ชิดแก่พวกเราอย่างที่ไม่มีใครให้กับพวกเรา อาจารย์ดีใจทุกครั้งที่นักศึกษาได้เข้าไปพูดคุยกับท่าน

ยิ่งพวกเรารู้จักอาจารย์มากขึ้นเท่าใด พวกเราก็รู้ว่า อาจารย์บุญเชียรไม่เคยแก่เฒ่า ทั้งความคิดและการปฏิบัติ อาจารย์เป็นคุณแม่สาวสวย สิ่งที่อาจารย์ทำนั้น เป็นสิ่งที่สาวสวย ผู้แข็งแกร่งเท่านั้น ที่จะทำได้…

ในต้นปีพุทธศักราช 2550 พวกเรานักศึกษาแพทย์กว่าหลายร้อยชีวิต ไปดักรอพบอาจารย์ เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการตัดเกรด โดยคาดหวังว่าอาจารย์จะเป็นที่พึ่งพิงให้พวกเรา และพวกเราก็คิดไม่ผิด อาจารย์จะคอยต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรมต่างๆ เสมอมา

อาจารย์ให้ความรัก ดูแลนักศึกษาทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่มีรักใครชอบใครเป็นพิเศษ อาจารย์ดูแลสารทุกข์สุขดิบ ของนักศึกษา อาจารย์มิใช่เป็นเพียงคณบดีของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อาจารย์ทำทุกอย่าง อาจารย์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นทั้งคนคอยยุติการทะเลาะวิวาทเวลานักศึกษาทะเลาะกัน เป็นทั้งแม่บ้าน รักษาความสะอาด เป็นคนรักษาความปลอดภัย เดินตรวจตราทุกที่ เป็นตำรวจทหารที่คอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย และปกป้อง ป้องกันอันตรายทุกสิ่งทุกอย่างแก่พวกเรา อาจารย์เป็นแม่พระ สอนสั่งจริยธรรม ศีลธรรมสังคม เป็นแม้กระทั่งนายธนาคาร ที่แอบให้เงินกู้ยืมแก่นักศึกษาหลายคนทุกเดือนๆ อาจารย์บอกพวกเราว่า “เธอจะเป็นผู้ใหญ่ เธอต้องรู้อะไรอีกมาก” อาจารย์เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเรา เป็นดั่งคุณแม่ของทุกคนที่ไม่ว่าพวกเราจะทำตัวเลวร้ายแค่ไหน อาจารย์พร้อมจะให้อภัย และสั่งสอนเสมอ

อาจารย์เป็นนักวางแผน มีโครงการมากมายที่ช่วยเหลือให้นักศึกษากระตือรือร้น ขวนขวายอ่านหนังสือ ตั้งใจศึกษาเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ อาจารย์จะดีใจทุกครั้งที่นักศึกษาสอบได้คะแนนดี หัวใจของอาจารย์นั้นงดงาม มีแต่ให้ และหาทางออกให้ทุกคนเสมอ

อาจารย์เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง ความสวยของอาจารย์เกิดจากการต่อสู้อย่างดุเดือด ต่อสู้ตลอดเวลา เพื่อนักศึกษา ใครก็ตามที่มาทำร้าย มาดูถูก มาต่อว่านักศึกษา มากลั่นแกล้ง เอาประโยชน์จากนักศึกษานั้น ไม่ว่าคนนั้นจะใหญ่โตมาจากไหน อาจารย์ไม่กลัวเจ็บไม่กลัวเดือดร้อน อาจารย์จะเข้าไปต่อสู้ชนิดว่า อยู่ร่วมโลกกันมิได้แล้ว มีคนเล่าให้ผมฟังว่า สมัยก่อน อาจารย์ เคยแม้กระทั่งชกต่อยกับผู้ชาย นี่คือความเป็นนักเลงของอาจารย์ ที่เวลาผ่านไปสามสิบสี่สิบปี เพื่อสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อาจารย์ไม่เคยเปลี่ยนไป ต่อสู้เพื่อพวกเรา…

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง เป็น ยิ่งกว่าความพึ่งพิง ยิ่งกว่าความเมตตากรุณาหาที่สุดมิได้ ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่สานความสัมพันธ์ ตั้งแต่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึง ปี6 อาจารย์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของนักศึกษาทั้งมวล โดยที่อาจารย์อาจไม่รู้สึกตัว อาจารย์จำได้ไหมครับ พวกรุ่นน้องแต่งเพลง ร้องเพลงให้อาจารย์ฟัง นักศึกษาเอาของฝากติดไม้ติดมือมาให้กำลังใจอาจารย์ พวกเราประชุมกันสรรหาสารพัดวิธีแสดงความเคารพรักท่านอาจารย์ ตอนแรกพวกเราคิดว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้ท่านอาจารย์ดีใจ อาจารย์เฉลยว่า สิ่งที่อาจารย์ต้องการที่สุด ดีใจที่สุด คือให้พวกเราสอบผ่านใบประกอบฯทุกคน เรียนจบไปเป็นแพทย์ที่ดี เพียงแค่นั้นจริงๆ [-]

ย้อนไปปีก่อน หลายคนตกใจครับ เมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์เป็นโรคร้าย แพร่ลามไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย ผมและเพื่อนไปเยี่ยมอาจารย์ที่ รพ.จุฬาฯ อาจารย์ยังยิ้มบอกพวกผมว่า “ครูไม่เป็นไร นี่ ถ้ายาไม่ตอบสนอง ครูคงตายในเจ็ดวันแล้ว” [-]

อาจารย์ทำเป็นไม่ป่วย ไม่ว่านักศึกษาจะจัดกิจกรรมอะไร จัดงานที่ไหน ออกต่างจังหวัด ไปไกลสุดหล้าฟ้าเขียว อาจารย์จะเดินทางไปให้กำลังใจพวกเราทุกที่ อาจารย์ช่วยหางบมาสนับสนุนนักศึกษาได้เสมอ สนับสนุนการสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ของสังคม แม้แต่รุ่นพี่พวกเราที่จบไปแล้ว อาจารย์ก็ยังยินดีช่วยเหลือ เดินทางไปหาสู่เสมอ หลายคนถามผมว่า ข่าวที่ว่าอาจารย์เป็นโรคร้ายนั้น เป็นข่าวโคมลอยใช่หรือไม่ พวกเราก็หวังว่าจะให้เป็นเช่นนั้น… [-]

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา อาจารย์เหน็ดเหนื่อย ร่างกายอาจารย์อ่อนแอลง น้ำหนักลดเป็นสิบกิโล อาจารย์ทำตนว่าแข็งแรง อาจารย์ต้องคอยแอบคนอื่น ไปหลบตามมุมเงียบๆเพียงเพื่อที่จะเหนื่อยหอบ แกล้งทำเป็นแข็งแรงทั้งที่เดินขึ้นบันไดสองสามขั้นยังไม่ไหว [-] ผมเคยสงสัยและถามอาจารย์ว่า ทำไมอาจารย์ถึงยังต้องมาทำงานอยู่อีก ทำงานคณบดีที่เหน็ดเหนื่อย วุ่นวาย ทรมานร่างกายและจิตใจ ทั้งที่อาจารย์มีทุกอย่างพร้อมแล้ว มีครอบครัวที่อบอุ่น มีบริวารผู้คนรู้จักรักใคร่ มีเงินทองทรัพย์สินจนไม่ต้องหาเงินอีก อยู่บ้านไม่สบายกว่าหรือครับอาจารย์ อาจารย์ตอบผมว่า “เมื่อรับตำแหน่งมาแล้ว ก็ต้องทำให้ถึงที่สุด” “สิ่งที่ครูทำทุกวันนี้ เพื่ออนาคตอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้าของพวกเธอ” “ขนาดลูกครู ครูยังไม่ได้ดูแลขนาดนี้เลย” หลายคนได้สัมผัสและรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

พวกเรารู้สึกว่า สิ่งที่สำคัญกว่าชีวิตของท่าน คือ นักศึกษา อาจารย์ทำงานหนักจนลืมรับประทานยาให้ตรงเวลา ทานยาไม่ครบ อาจารย์ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ผมกระเซ้าอาจารย์เสมอว่า เป็นผู้ป่วยที่ไม่ดูแลสุขภาพตนเอง อาจารย์กลับหัวเราะ แม้ตอนหลังอาจารย์รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหลายขนาน ร่างกายทรุดโทรม เป็นไข้บ่อย อาจารย์ก็ยังเดินทางมาคอยดูแลพวกเราตลอดเวลา ยิ้มแย้มหัวเราะ ไม่แสดงออกให้ใครเห็นว่าเจ็บป่วย

ต้นปีที่ผ่านมา อาจารย์บอกว่า “หมอบอกว่าครูจะอยู่ได้แค่หกเดือน ตอนนี้ครูอยู่ได้เจ็ดเดือน นี่คือกำไรชีวิตแล้ว” ทุกคนปรบมือแสดงความดีใจ เหนืออื่นใด คือยินดีที่คนที่พวกเรารัก เทิดทูน คนที่ให้ความอบอุ่น ดูแข็งแรงดี อาจารย์บอกพวกเราว่า การตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่ากลัว

อาจารย์ครับ…พวกเราเรียนรู้หลายสิ่งจากอาจารย์ คุณธรรม จริยธรรม แห่งวิชาชีพ อาจารย์สอนให้พวกเรารู้ว่า “การให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” นั้นเป็นเช่นไร อาจารย์เป็นตัวอย่างของแพทย์ ที่เป็นคนดีของสังคม

พระคุณของอาจารย์นั้น ไม่ว่าชาติไหนก็คงตอบแทนไม่หมด น้ำใจที่กว้างใหญ่ อาจารย์ได้หล่อหลอมพวกเราขึ้นมา จากเด็กไม่รู้จักคิด ให้กลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความคิดมากขึ้น พร้อมที่จะเป็นแพทย์ในอนาคต

ผมในฐานะตัวแทนของนักศึกษาขอกราบขอขมาทุกสิ่งที่เคยรบกวนอาจารย์ ทำให้อาจารย์เหน็ดเหนื่อย ลำบาก คอยต่อสู้เพื่อพวกเราตลอดมา และต่อจากนี้ พวกเรา ลูกศิษย์ทุกคนจะตั้งใจฝ่าฟันอุปสรรค และจบไปเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมครับ ให้สมดังสิ่งที่อาจารย์คาดหวัง ยืนหยัดต่อไปได้ด้วยตนเอง สืบสานเจตนารมณ์อาจารย์… “ความแข็งแกร่ง”ของอาจารย์

อาจารย์เชื่อเรื่องความดีงาม อาจารย์บอกพวกเราเสมอว่า คนเราถ้าทำดีแล้ว อยู่ที่ไหนก็ดี ความดีย่อมคุ้มภัย พวกเราเรียนรู้ด้วยว่าทำดีแล้ว แม้ตายก็มิอาจพรากความดีที่ทำไว้ได้เลย

ความดีของอาจารย์จะประทับอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคนตลอดไป…

“กราบแทบเท้าครั้งสุดท้าย ท่านอาจารย์บุญเชียร ปานเสถียรกุล – มารดาของแพทย์รังสิต”

Posted in: บทความ, รังสิต, วงการแพทย์ Tagged: คณบดี, ดร, บุญเชียร, ปานเสถียรกุล, พญ, รังสิต, สุดยอด, หมอ, อาจารย์, อาทิตย์, แพทย์

…อาจารย์บุญเชียร

September 15, 2008 by Gla 9 Comments

บุญเชียร ปานเสถียรกุล

…อาจารย์บุญเชียร

กราบเรียนท่านอาจารย์บุญเชียร ปานเสถียรกุล ครับ

ท้องฟ้ามืดครึ้ม เมฆดำทะมึน ละอองน้ำโปรยลงมาจากเบื้องบน… เป็นหน้าฝนนี่ครับ อาจารย์

ผมไม่ได้พบอาจารย์มาเป็นสัปดาห์ จันทร์ที่แล้วได้พูดคุยกับอาจารย์ผ่านทางโทรศัพท์อาจารย์ยังส่งเสียงมาตามสาย ว่าให้พวกนักศึกษาขยันเรียน ตั้งใจ เพื่อการสอบให้ผ่านได้คะแนนดี และ “ไม่ต้องมาเยี่ยมเด็ดขาดนะ” อาจารย์บอกนักศึกษาคิดถึงอาจารย์มากนะครับ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน ถามหาว่า อาจารย์บุญเชียร หายไปไหน…


อาจารย์ครับ ผมมีเรื่องอยากเล่าให้อาจารย์ฟังมากมายเลยครับเหมือนทุกครั้ง เวลานักศึกษาทุกคนมีปัญหา มีเรื่องเล่าต่างๆ นานา ทุกคนจะเข้าไปหาอาจารย์ จะได้ยินเสียงดังดัง จากอาจารย์เสมอครับ หลายครั้งอาจารย์ดุด่าว่ากล่าวจนหลายคนกลัว แต่ลึกๆแล้ว อาจารย์เมตตาทุกคน ช่วยเหลือทุกคนอย่างเต็มที่ สุดความสามารถ

ผมเป็นหนึ่งคนที่ชอบไปหาอาจารย์ มีคนถามผมว่า ทำไมชอบไปหาอาจารย์ มีอะไรน่าสนุกอย่างนั้นหรือ ไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ผมคิดในใจ ทุกครั้งที่ไม่ว่านักศึกษาคนไหนก็ตามเข้าไปพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อาจารย์จะเมตตาและมีความสุขที่ได้ฟังเรื่องราวนั้นๆ อาจารย์จะยิ้มแย้ม จะหัวเราะก็ล้วนเพราะเรื่องของลูกศิษย์ทั้งหลาย ผมคิดว่าผมไม่ได้คุยกับคนแก่คนเฒ่า อาจารย์บุญเชียรยังคงเป็นสาวสวยสำหรับผมและหลายๆคนอยู่เสมอครับ เพราะสิ่งที่อาจารย์ทำนั้น เป็นสิ่งที่สาวสวยผู้แข็งแกร่งเท่านั้น ที่จะทำได้…

ผมจำได้ครับ เมื่อย้อนกลับไป วันแรกที่ผมได้มีโอกาสรู้จักอาจารย์ ต้นปี2550 วันนั้น เป็นวันที่ผมและเพื่อนๆ น้องๆ กว่าหลายร้อยชีวิต ไปดักพบอาจารย์ เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการตัดเกรด โดยคาดหวังว่าอาจารย์จะเป็นที่พึ่งพิงให้พวกผม และพวกผมก็คิดไม่ผิด อาจารย์จะคอยต่อสู้เพื่อความไม่ยุติธรรมต่างๆ เสมอมาและเหนืออื่นใด เพื่อผลประโยชน์ของนักศึกษา

อาจารย์ให้ความรัก ดูแลนักศึกษา ทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่มีรักใครชอบใครเป็นพิเศษ อาจารย์ดูแลสารทุกข์สุขดิบ คอยถามนักศึกษาว่ามีปัญหาอะไรไหม ถ้ามี อาจารย์จะวิ่งเข้าใส่ปัญหา ลุยกับมัน

อาจารย์มิใช่เพียงคณบดีของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อาจารย์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นทั้งคนคอยยุติการทะเลาะวิวาทเวลานักศึกษาทะเลาะกัน เป็นทั้งแม่บ้าน รักษาความสะอาด เป็นคนรักษาความปลอดภัย เดินตรวจตราทุกที่ เป็นตำรวจที่คอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นพระ สอนสั่งจริยธรรม ศีลธรรมสังคม อาจารย์เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเรา เป็นดั่งผู้ปกครองของทุกคนที่ไม่ว่าพวกเราจะทำตัวเลวร้ายแค่ไหน อาจารย์พร้อมจะให้อภัย และสั่งสอนเสมอ

อาจารย์มีโครงการมากมายที่ช่วยเหลือให้นักศึกษากระตือรือร้น ขวนขวายอ่านหนังสือ ตั้งใจศึกษาเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ อาจารย์จะดีใจทุกครั้งที่นักศึกษาสอบได้คะแนนดี และใครที่สอบไม่ดี แม้อาจารย์เสียใจ แต่ก็ไม่เคยแสดงออก จะมีแต่คอยตักเตือน ดุด่าว่ากล่าว ผมรู้สึกเสมอว่าอาจารย์ปากร้าย แต่ใจดีมาก เวลาใครมีปัญหาด้านการเรียน อาจารย์จะเรียกมาพบ ดุด่าเสร็จ จะพูดคุยด้วยความเข้าใจ หาทางออกให้ทุกคนเสมอ

นอกจากเรื่องเรียนแล้ว ไม่ว่าเป็นเรื่องกิจกรรมใดใด อาจารย์จะช่วยหางบมาลงสนับสนุนนักศึกษาได้เสมอ สนับสนุนการสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ของสังคม การเล่นกีฬา ดนตรี การจัดค่าย การจัดกิจกรรมต่างๆ การสร้างผลงานสู่สายตานักศึกษาที่อื่น ฯลฯ อาจารย์บอกว่าแต่ก่อนอาจารย์เป็นนักกิจกรรม ทำกิจกรรมหลายชนิด ชอบเชียร์กีฬาอย่างสนุกสนาน กระโดดโลดเต้นไถไปกับพื้น

อาจารย์เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง ความสวยของอาจารย์เกิดจากการต่อสู้อย่างดุเดือด ต่อสู้ตลอดเวลา เพื่อนักศึกษา ใครก็ตามที่มาทำร้าย มาดูถูก มาต่อว่านักศึกษา มากลั่นแกล้ง เอาประโยชน์ อาจารย์จะเข้าไปต่อสู้ชนิดว่า ใครคนนั้นอยู่ร่วมโลกกันมิได้แล้ว มีคนเล่าให้ผมฟังว่า สมัยก่อน อาจารย์ เคยแม้กระทั่งชกต่อยกับผู้ชาย นี่คือความเป็นนักเลงของอาจารย์ ที่เวลาผ่านไปสามสิบสี่สิบปี เพื่อสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อาจารย์ไม่เคยเปลี่ยนไป ต่อสู้เพื่อพวกเรา…

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง เป็น ยิ่งกว่าความพึ่งพิง ยิ่งกว่าความเมตตากรุณาที่หาที่สุดมิได้ ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่สานความสัมพันธ์ ตั้งแต่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึง ปี6 อาจารย์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของนักศึกษาทั้งมวล โดยที่อาจารย์อาจไม่รู้สึกตัวอาจารย์จำได้ไหมครับ พวกรุ่นน้องแต่งเพลงให้อาจารย์ พวกเราชุมนุมให้อาจารย์ พวกเราสรรหาสารพัดวิธีแสดงความรักต่ออาจารย์ ผมคิดว่าอาจารย์ดีใจอยู่มาก อาจารย์บอกว่า สิ่งที่อาจารย์ต้องการที่สุด คือให้พวกเราสอบผ่าน เรียนจบไปเร็วๆ เพียงแค่นั้นจริงๆ

ย้อนไปปีก่อนหลายคนตกใจครับ เมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์เป็นโรคร้ายที่ปอด และแพร่ลามไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย อาจารย์ยังยิ้มบอกว่า “ไม่เป็นไร”

อาจารย์ทำเป็นไม่ป่วยครับ ไม่ว่านักศึกษาจะจัดกิจกรรมอะไร จัดงานที่ไหน ออกต่างจังหวัด ไปไกลสุดหล้าฟ้าเขียว อาจารย์จะเดินทางไปให้กำลังใจพวกเราทุกที่ หรือแม้แต่รุ่นพี่พวกเราที่จบไปแล้ว อาจารย์ก็ยังยินดีช่วยเหลือ เดินทางไปหาเสมอ หลายคนถามผมว่า ข่าวที่ว่าอาจารย์เป็นโรคร้ายนั้น เป็นข่าวโคมลอยใช่หรือไม่ ผมก็หวังว่าจะให้เป็นเช่นนั้น…

อาจารย์ทำตนว่าแข็งแรง มาตลอดกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา อาจารย์ต้องแอบคนอื่น ไปหลบตามมุมเพียงเพื่อที่จะเหนื่อยหอบ ต้องทำเป็นแข็งแรงทั้งที่เดินขึ้นบันไดสองสามขั้นยังไม่ไหว ผมเคยแอบถามอาจารย์ว่า ทำไมอาจารย์ถึงยังต้องมาทำงานอยู่อีก ทำงานคณบดีที่เหน็ดเหนื่อย วุ่นวาย ทรมานร่างกายและจิตใจ ทั้งที่อาจารย์มีทุกอย่างพร้อมแล้ว มีครอบครัวที่อบอุ่น มีบริวารผู้คนรู้จักมากมาย มีเงินทองทรัพย์สินจนไม่ต้องหาเงินอีก อยู่บ้านไม่สบายกว่าหรือครับอาจารย์ อาจารย์ตอบผมว่า “เมื่อรับตำแหน่งมาแล้ว ก็ต้องทำให้ถึงที่สุด” เธอต้องรู้นะว่า ครูเหนื่อยกับพวกเธอเพียงไร “สิ่งที่ครูทำทุกวันนี้ เพื่ออนาคตอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้าของพวกเธอ”

อาจารย์บอกว่า “ขนาดลูกครู ครูยังไม่ได้ดูแลขนาดนี้เลย” หลายคนได้สัมผัสและรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ว่าอาจารย์ดูแลพวกเราเปรียบดังพวกเราเป็นบุตรหลานของท่าน

ทุกคนรักและเป็นห่วงอาจารย์มากครับ ที่ผ่านมา มีคนให้เครื่องรางของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ บทสวดภาษาต่างๆแก่อาจารย์มากมาย อาจารย์เคยเล่าให้ผมฟังพลางหัวเราะ ตลก ว่าถ้าอาจารย์สวดทุกบทคงเหนื่อยตายพอดี อาจารย์บอกว่าอาจารย์ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ คนเราถ้าทำดีแล้ว อยู่ที่ไหนก็ดี ให้ความดีคุ้มภัย ไม่ต้องไปใช้เครื่องรางของขลัง

อาจารย์เหน็ดเหนื่อยทำงานหนักเพื่อพวกเราตลอดมา จนลืมใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ ยาก็ไม่ทานตรงตามเวลา ทั้งหมดเพราะเห็นสิ่งที่สำคัญกว่าชีวิตของตน นั่นคือ นักศึกษา จนแม้ตอนหลังอาจารย์รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหลายขนาน ร่างกายทรุดโทรม เป็นไข้บ่อย อาจารย์ก็ยังเดินทางมาคอยดูแลพวกเราตลอดเวลา ยิ้มแย้มหัวเราะ ไม่พยายามแสดงออกให้ใครเห็นถึงความเจ็บป่วย

สัปดาห์ที่แล้ว อาจารย์เหนื่อยหอบบ่อยขึ้น อาจารย์พูดกับผมว่า “สงสัยครูจะอยู่ได้อีกไม่นานแล้วล่ะ ครูเหนื่อยเหลือเกิน” ผมนึกว่าอาจารย์หยอกล้อพวกผมเล่นเหมือนเคย ในใจสวดมนต์อ้อนวอนระลึกให้อาจารย์ไม่เป็นไร

ผมจำได้ อาจารย์เคยบอกพวกเราเมื่อต้นปีว่า “หมอบอกว่าครูจะอยู่ได้แค่หกเดือน ตอนนี้ครูอยู่ได้เจ็ดเดือน นี่คือกำไรชีวิตแล้ว” ทุกคนปรบมือแสดงความดีใจ เหนืออื่นใด คือยินดีที่คนที่พวกเขารัก เทิดทูน คนที่ให้ความอบอุ่น อาจารย์ยังดูเหมือนว่าแข็งแรงดีอาจารย์เป็นคนไม่กลัวตาย อาจารย์พูดกับผมบ่อยมากว่า การตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่ากลัว คนอยู่นั้นน่ากลัว พวกเธอก็น่ากลัว อาจารย์หัวเราะ

สุดท้ายผมก็ไม่ได้พบอาจารย์ อาจารย์บอกผมว่าอย่ามาเยี่ยม เลยไม่ได้เยี่ยมจริงๆเลยครับ

•••

พวกเราเรียนรู้หลายสิ่งจากอาจารย์ครับ คุณธรรม จริยธรรม แห่งวิชาชีพ อาจารย์สอนให้พวกเรารู้ว่า “การให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” นั้นเป็นเช่นไร อาจารย์เป็นตัวอย่างของแพทย์ ที่เป็นคนดีของสังคมด้วย

พระคุณของอาจารย์นั้น ไม่ว่าชาตินี้ชาติไหนก็คงตอบแทนไม่หมด น้ำใจที่กว้างใหญ่ อาจารย์ได้หล่อหลอมพวกเราขึ้นมา จากเด็กไม่รู้จักคิด ให้กลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความคิดมากขึ้น พร้อมที่จะเป็นแพทย์ในอนาคต

แม้ต่อไปนี้ผมอาจไม่ค่อยได้ไปหา เพื่อพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของนักศึกษา ให้อาจารย์ฟัง

แต่เชื่อว่า ทุกครั้งที่นักศึกษาทุกคนระลึกถึงอาจารย์ ต่อจากนี้ไป นั่นเปรียบเสมือนการส่งต่อข้อความไปถึงอาจารย์ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ชีวิตของพวกเราทั้งผองที่อาจารย์ได้ฟูมฟักดูแล ว่าจะเป็นอย่างไรบ้างในอนาคต ทำอะไรกันอยู่ เติบใหญ่ไปเป็นแพทย์กันเช่นไร

พวกผมคงต้องกราบขอขมาทุกสิ่งที่เคยรบกวนอาจารย์ ทำให้อาจารย์เหน็ดเหนื่อย ลำบาก คอยต่อสู้เพื่อพวกผมตลอดมา และต่อจากนี้ พวกเรานักศึกษา ลูกศิษย์ทุกคนจะตั้งใจฝ่าฟันอุปสรรค และจบไปเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมครับ ให้สมดังสิ่งที่อาจารย์คาดหวัง ต่อไปนี้เราจะต้องยืนหยัดต่อไปได้ด้วยตนเอง สืบสานเจตนารมณ์อาจารย์ “ความแข็งแกร่ง”ของอาจารย์

อาจารย์จะประทับอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคนตลอดไป…

“ท่านอาจารย์บุญเชียร ปานเสถียรกุล – มารดาของแพทย์รังสิต”

กราบแทบเท้าด้วยความเคารพรักครับอาจารย์

แต่งกลอนมาฝากด้วยครับ

มาวันนี้ ไม่มี เธอที่รักสุดจะหัก ห้ามจิต คิดโศกศัลย์

จักจดจำ คำสั่งสอน ทุกคืนวันที่สอนว่า ให้เรานั้น เป็นคนดี

ให้อดทน กล้าแกร่ง เผชิญหน้าอุปสรรค ฟันฝ่า ไม่ถอยหนี

มีคุณธรรม นำความรู้ คู่ชีวีหมั่นเพียรนี้ ช่วยเราได้ ให้มั่นคง

ใช้โอกาส ที่ท่านให้ เป็นทางผ่านสู่งานการ สำเร็จล่วง สมประสงค์

มิตรภาพ ทั้งผองไว้ ให้ดำรงความซื่อตรง ความรัก สามัคคี

แม้เธอจาก ไปแล้ว ไม่ไปลับสร้างรังสิต มีระดับ เกียรติศักดิ์ศรี

เป็นคนงาม น้ำใจ ให้เมื่อมีแพทย์ที่ดี สืบสาน เจตนารมณ์


 

ชเนษฎ์ ศรีสุโข ปีที่4 (ผู้แต่ง) และนักศึกษาแพทย์ทุกคน

15 กันยายน 2551

Posted in: กลอน, ข่าว, รังสิต, วงการแพทย์ Tagged: คณบดี, ดร, บุญเชียร, ปานเสถียรกุล, พญ, รังสิต, สุดยอด, สุดยอดคณบดี, หมอ, อาจารย์, อาทิตย์, แพทย์

บันทึกงานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ ครั้งที่5

August 23, 2007 by Gla 10 Comments

งานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ครั้งนี้ จัดขึ้นที่ โรงพยาบาลราชวิถี อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ชั้น11-12 (อาคารจอดรถ) เช่นเดียวกับปีที่แล้ว เนื่องด้วยด้วยความพร้อมของสถานที่ และความสะดวกสำหรับผู้เยี่ยมชม

จัดโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท) โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมกว่า 1,700 คน

ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมและทำงานด้านการเตรียมการฝ่ายสถานที่

รวมถึงได้รับฟังคำบรรยายจากวิทยากรผู้มากประสบการณ์ และบังเกิดความประทับใจมากกับการตอบคำถามรวมถึงการบรรยายของวิทยากร

ที่ประทับใจที่สุด คือ ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน

ทำให้ข้าพเจ้าย้อนตอบคำถามตัวเองหลายๆอย่าง ถึงเป้าหมายชีวิตของตนเอง และการมาเรียนหมอ

แม้จะได้ไม่ได้ชอบและอยากเรียนที่สุด แต่ข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่าสามารถเรียนแพทย์และสามารถจบแพทย์ได้

รวมถึงหลังจบแพทย์ ทั้งการเรียนแพทย์ และการทำงานเป็นแพทย์ จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ความเหน็ดเหนื่อยยาก ลำบาก เผาผลาญพลังงานชีวิต มากมายเช่นไร

เป็นสิ่งที่ต้องสัมผัสด้วยตนเองจึงจะทราบความเป็นจริง

ตอนนี้ เรียนรู้จากคนใกล้ตัว และบุคคลในวิชาชีพแพทย์มากมาย เป็นการเตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อจะพบกับชีวิตของความเป็นหมอ

งานนี้เป็นการตอบคำถามแก่น้องๆที่ยังไม่ทราบความเป็นจริง และน้องๆที่สนใจจะเรียนวิชาชีพแพทย์ รวมถึงน้องๆที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียนแพทย์

ต้องมารับทราบความเป็นจริง และเตรียมตัว เตรียมใจ รู้รายละเอียดเบื้องลึกของการเรียนแพทย์ รวมถึงการเรียนแพทย์ในแต่ละสถาบัน

ที่คัดลอกมาไว้นี้ เป็นเนื้อหาส่วนสำคัญ บางส่วน จากงานวันนั้น รวมถึงบทความจากหนังสือในงาน


ศ.คลินิก พญ.บุญเชียร ปานเสถียรกุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การเรียนแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่นักเรียนหลายคนคิด นักเรียนที่ตัดสินใจเข้ามาเรียนจะต้องพบกับความเหนื่อยยาก ตลอดทั้งชีวิตอาจจะต้องทิ้งการแสวงหาความสุขอย่างที่คนอื่นมี สิ่งที่จะต้องมี ความอดทน ขยัน เสียสละ และรับผิดชอบ การเรียนแพทย์ใช้เวลา 6 ปี หลังจากเรียนจบต้องทำงานใช้ทุนคืนให้ประเทศอีก 3 ปี หลังจากนั้นถึงจะมีโอกาสไปศึกษาต่อแพทย์สาขาเฉพาะทางอีก 3-5 ปี

พร้อมกันนี้ นักเรียนแพทย์จะต้องรักษาสุขภาพ ระมัดระวังอย่าให้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างศึกษา ซึ่งจะทำให้เรียนไม่ต่อเนื่อง ขณะที่เรียนหนักจนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวนักเรียนต้องมีความเต็มใจ ต้องอยากเรียนเอง ไม่ใช่เพราะผู้ปกครองอยากให้เรียน หรือเรียนตามเพื่อน หรือเรียนเพราะอยากมีเกียรติ อยากมีรายได้ดี ซึ่งจะทำให้เมื่อเข้ามาเรียนแล้วเรียนไม่จบ

“มีนักเรียนบางคนเพราะตามใจพ่อแม่ เรียนตามเพื่อน ซึ่งไม่ได้อยากเรียนแพทย์จริงๆ หรือไม่ได้เต็มใจอยากเรียนแพทย์ เข้ามาจะมีปัญหามากในการเรียน บางคนสอบตกต้องเรียน 9-12 ปี เมื่อจบไปก็ไม่ได้เป็นแพทย์ บางคนเปลี่ยนเส้นทางไปเลย แต่บางคนก็ไปทำงานเป็นฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งก็ถือว่าไม่ห่างจากวิชาชีพนัก จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ การสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากไม่ตั้งใจเรียนจะสอบไม่ได้ ก็จะไม่ได้เป็นแพทย์เช่นกัน” ศ.คลินิก พญ.บุญเชียร กล่าวถึงคนที่อยากเรียนแพทย์จริง ๆ แต่ไม่มีเงิน ขอให้แสดงความตั้งใจมุ่งมั่นให้ชัดเจน เพราะทุนที่ให้แก่ผู้เรียนแพทย์มีอยู่มากและเพียงพอ แต่เมื่อเรียนจบอาจต้องทำงานใช้คืนทุนนานกว่าคนอื่น

ในขณะนี้ประเทศไทยยังถือว่าขาดแพทย์อีกมาก คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,600 คน แต่ที่เหมาะสม น่าจะไปถึง 1 ต่อ 800 คน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกนานกว่า 10 ปี แต่ละปีมีนักศึกษาแพทย์เรียนจบประมาณ 1,250 คน การศึกษาแพทย์วิชาชีพเฉพาะทางในไทยรับได้ประมาณปีละ 300 คน ปัญหาในการเรียนการสอนแพทย์ขณะนี้อยู่ที่ปี 1-3 หรือชั้นพรีคลินิก อาจารย์จะสอนวิทยาศาสตร์แท้ ๆ โดยไม่ได้ระบุชัดเน้นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับแพทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิรูปหลักสูตร

 

 

 

 


 

“ทำอย่างไรจึงจะได้เป็นแพทย์?”

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

นักเขียนและสูติ-นรีแพทย์ 9 โรงพยาบาลพิจิตร

น้องๆที่รัก…

ในปีพ.ศ. 2545 สำนักพิมพ์สนุกอ่าน ได้รวมบทความเกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาแพทย์ที่พี่เขียนลงเป็นตอนๆในนิตยสารใกล้หมอเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คเรื่อง“บันเทิงบันทึกนักศึกษาแพทย์” ตามมาด้วยพ็อคเก็ตบุ๊คเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตแพทย์ฝึกหัด “สวัสดีคุณหมอใหม่”ในปี พ.ศ. 2548 พี่จึงรู้ว่าน้องๆที่อยากเป็นแพทย์นั้น มีจำนวนมากมายทีเดียว น้องๆหลายคนติดต่อมา มีทั้งเขียนจดหมาย, อีเมล, และโทรศัพท์ แต่ละคนบอกว่า…อยากเรียนแพทย์มาก ทำอย่างไรจึงจะได้เรียนแพทย์? มีไม่น้อยที่ถามถึงเคล็ดลับที่ทำให้พี่สอบติดแพทย์ที่เขียนในหนังสือว่า เอาเท้าจุ่มน้ำเย็นจะได้อ่านหนังสือได้ทั้งคืนนั้น…เป็นเรื่องจริงไหม? น้องบางคนบอกว่าลองทำดูแล้วพบว่าไม่หลับทั้งคืนก็จริง แต่ไปหลับในห้องเรียนแทน ทำเอาเรียนไม่รู้เรื่องไปทั้งวัน

อันที่จริงคนเรานั้นมีเงื่อนไขต่างกัน ที่พี่เล่านั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่พี่พยายามกระทำเพื่อจะได้เป็นแพทย์ ชีวิตคนเรานั้น คนที่มีเงื่อนไขครบสมบูรณ์ ประเภทอยากเป็นอะไรก็เป็นได้มีน้อย ส่วนใหญ่อยากจะเป็นอะไร โดยเฉพาะเป็นให้เก่งให้ดี ต้องใช้ความพยายามสูงสุดทั้งนั้น ตอนเด็กๆชีวิตพี่ลำบาก เป็นเด็กกำพร้าขาดแคลน เผอิญไปรู้จักนักศึกษาแพทย์และทีมแพทย์จากญี่ปุ่นที่มาทำงานวิจัยที่โรงเรียน จึงใฝ่ฝันอยากเรียนแพทย์ การเป็นแพทย์ของพี่จึงเป็นเรื่องที่ลำบากฝ่าฝันกว่าจะประสบความสำเร็จแม้ไม่ใช่คนทุกคนที่จะเรียนแพทย์ได้ แต่การเรียนแพทย์ไม่ใช่ของไกลจนสุดเอื้อมการสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ อาศัยคุณสมบัติเพียง 2ประการจ๊ะน้อง ประการที่หนึ่ง เรียนดีเรียนเก่ง

คนจะเรียนแพทย์ได้ ควรเรียนเก่งเป็นอันดับต้นอย่างน้อยร้อยละสิบของนักเรียนทั้งหมด วิชาที่ต้องเก่งระดับยอดเยี่ยมได้แก่วิชาคณิตศาสตร์ ระดับดีถึงดีมาก ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ส่วนอย่างอื่นๆอย่างน้อยต้องระดับดี ไม่ว่าสังคม ภาษาไทย พละศึกษาฯลฯ วิชาเหล่านี้แม้ไม่ใช่พื้นฐานของการเรียนแพทย์ทุกวิชา แต่การเรียนเก่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวิชาแพทย์มีเนื้อหาวิชามากมาย หลายอย่างอาศัยความจำที่เป็นเลิศ บางอย่างซับซ้อนเข้าใจยาก บางอย่างอาศัยการคำนวณ บางอย่างอาศัยภาษาอังกฤษที่แตกฉาน บางอย่างอาศัยความคิดเป็นเหตุเป็นผลฯลฯ เรียกว่าจะเรียนรู้ให้เข้าใจ เกือบทุกเรื่องล้วนต้องอาศัยสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดเป็นหลัก

ประการที่ 2 ร่างกายแข็งแรง โอบอ้อมอารี มีเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์ แก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ ฯลฯ

อันที่จริงเรื่องนี้สำคัญเป็นอันดับหนึ่งเพราะเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเป็นแพทย์ แต่ที่เขียนเป็นประการสอง เพราะแม้บางส่วนเป็นคุณสมบัติที่ครอบครัวและตนเองสร้างมา แต่บางส่วนอาจเป็นเรื่องสร้างขึ้นภายหลังได้ ข้อสอบเข้าแพทย์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นข้อเขียน สัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้

แค่มีคุณสมบัติ2 ประการนี้ น้องย่อมสอบเข้าแพทย์ได้แล้ว เย้…

แต่การสอบเข้าได้ ไม่ได้ประกันว่าน้องสามารถเรียนจนจบเป็นแพทย์ น้องนักเรียนหลายคนเมื่อสอบเข้าแพทย์ได้ คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จ บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตนเองและผู้ปกครองจนเลือกใช้ชีวิตอย่างประมาท ในขณะความเป็นจริงคือ การจะเรียนจนจบแพทย์ได้ อาศัยคุณลักษณะที่จำเป็นอีกหลายประการ ขอยกมาเพียง7ประการได้แก่

ประการที่ 1  ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่มีร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง ไม่มีโรคจิต โรคประสาท สามารถทนต่อสภาวะที่เครียดได้

แม้มีการคัดคุณสมบัติบุคคลก่อนเรียนแพทย์ แต่อาจไม่สามารถเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ได้หมดจริง คนที่มีร่างกายป่วยกระเสาะกระแสะ จิตใจอ่อนแอไม่อาจรับความกดดันใดๆ หรือเครียดง่าย ล้วนเป็นอุปสรรคของการเรียนแพทย์ ส่งผลให้น้องเรียนไม่จบ หรือเกิดความเครียด จนมีบางรายต้องปลิดชีวิตตนลง ซึ่งมีทั้งที่เป็นนักศึกษาแพทย์ และที่เรียนจนจบแพทย์แล้ว

ประการที่2 ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่มีวินัยและความรับผิดชอบ

คนที่สอบเข้าแพทย์ได้ ส่วนใหญ่ต้องมีวินัยในการใช้ชีวิต รับผิดชอบอ่านหนังสือ ติวความรู้ฯลฯ จนผลการเรียนดีเด่น แต่เมื่อสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ บางคนคิดว่า ขอเรียนให้ผ่านก็พอ ไม่จำเป็นต้องเอาจริงเอาจัง จึงย่อหย่อนวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ที่ฝากชีวิตไว้กับการดูแลเอาใจใส่ของแพทย์ ในแต่ละปีมีนักศึกษาแพทย์ที่ถูกรีไทร์จากการขาดวินัยและความรับผิดชอบ สมัยที่พี่เป็นนักศึกษาแพทย์ เพื่อนนักศึกษาแพทย์ที่ถูกรีไทร์มีหลายคน ส่วนหนึ่งในจำนวนนั้นไม่อ่านหนังสือไปสอบ, ไม่ไปขึ้นวอร์ด(ตึกคนไข้), ไม่ดูแลคนไข้ที่รับผิดชอบ, บางคนไม่ไปเรียนแต่เพลิดเพลินกับการเล่นไพ่อยู่ที่หอทั้งวันทั้งคืน

ประการที่3ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่พร้อมจะใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น

ทันทีที่ก้าวเข้ามาในวิชาชีพแพทย์ เวลาส่วนตัวของน้องไม่ใช่ของน้องคนเดียว ไม่ว่าอยู่เวรหรือไม่ หากน้องถูกตาม น้องต้องพร้อม ไม่ว่าน้องจะทำอะไรอยู่ หากมีคนไข้อยู่ในภาวะวิกฤตของชีวิต ทุกอย่างที่ทำอยู่ต้องกลายเป็นรอง ด้วยการช่วยชีวิตคนไข้นั้นมีความสำคัญที่สุดสำหรับคนที่จะเป็นแพทย์

ประการที่ 4 ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่มีความอดทน

ทั้งอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อย เช่นอยู่เวรทั้งคืน แต่เช้าต้องมาทำงานหรือมาเรียน เหมือนคนนอนหลับสบายทั้งคืน ทั้งอดทนต่อของที่น่ารังเกียจ เช่นต้องตรวจ อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด  น้ำเหลือง น้ำหนอง เสมหะ อวัยวะที่เปื่อยเน่า ฯลฯ

น้องบางคนรักของสวยของงามมาก ไม่อาจทนได้กับสิ่งเหล่านี้ จนเปลี่ยนคณะเรียนก็มี

ประการที่ 5 ความเป็นแพทย์ต้องการคนสนใจใฝ่รู้ตลอดชีวิตด้วยตนเอง

วิชาแพทย์ เป็นวิชาที่กว้างและลึกไม่มีวันเรียบจบ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ การรักษา เวชภัณฑ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปฯลฯ จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แค่ในตำราอาจไม่พอที่ทำให้น้องสอบผ่าน รับใบอนุญาตหรือใบประกอบโรคศิลป์เพื่อเป็นแพทย์ได้

ประการ6 ความเป็นแพทย์ต้องการคนมีจริยธรรม

อันที่จริงวิชาใดๆในโลกนี้ล้วนต้องการคนมีจริยธรรมทั้งนั้น แต่ เรื่องนี้เป็นเรื่องกำหนดไว้ในคุณสมบัติของวิชาชีพแพทย์ ดังนั้นหากน้องทำผิดจริยธรรม ซึ่งอาจไม่ผิดร้ายแรงสำหรับบางอาชีพ แต่วิชาชีพแพทย์ถือว่าเป็นความผิดอย่างรุนแรง จนอาจเรียนไม่จบ เช่นโกหกหลอกลวง ประเภทไม่ได้ตรวจคนไข้บอกว่าตรวจแล้ว ลอกงานคนอื่นมาส่งอาจารย์เป็นงานตนเองเป็นต้น

ประการ7  ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่มีความมุ่งมั่น มีปณิธาน

น้องที่จะเรียนแพทย์ ควรเป็นผู้ต้องการเป็นแพทย์จริงๆ นั่นหมายความว่าน้องควรต้องเรียนรู้ เข้าใจ และศรัทธาวิชาชีพแพทย์ ซึ่งจะทำให้น้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่ก่อนสอบเข้าแพทย์ เมื่อสอบได้ การใช้ชีวิตแบบที่ความเป็นแพทย์ต้องการ จะส่งผลทำให้น้องประสบความสำเร็จ เรียนจบ ได้ปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามที่น้องใฝ่ฝัน

น้องๆที่รัก…

ก่อนจบ พี่ขอฝากถึงท่านผู้ปกครองและน้องๆที่ต้องการเป็นแพทย์ในเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง คือความเชื่อว่าวิชาชีพแพทย์นั้นร่ำรวย จนทำให้หลายคนอยากเป็นแพทย์เพราะเหตุนี้

วิชาชีพแพทย์นั้นยังไม่มีการตกงานตั้งแต่อดีตมาจวบปัจจุบัน แพทย์ไม่ยากจน แต่ก็ไม่ร่ำรวย เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ(ที่ทำงานอย่างเหนื่อยยาก, ทุ่มเทเวลา, และใช้สมองที่ชาญฉลาด เท่าๆกัน)… วิชาชีพแพทย์ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า จนมีอาจารย์แพทย์บางท่านบอกว่า…ค่าตอบแทนหมอน้อยกว่าหมอนวดฝ่าตีน มิหนำซ้ำยังมีความเสี่ยง ต่อการติดโรค ถูกฟ้องร้อง เสื่อมสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว(เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว)

อย่างไรก็ตาม แพทย์เป็นวิชาชีพที่มีโอกาสได้สร้างบุญบารมี การทำงานด้วยพรหมวิหาร4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์และผู้ตกทุกข์ได้ยาก สามารถสร้างความปลื้มปีติในหัวใจของตนเองและครอบครัวอย่างหาอาชีพอื่นเทียบเทียมได้น้อย มิหนำซ้ำ วิชาชีพแพทย์ยังทำให้ปลงตก เห็นความอนิจจังของชีวิต ด้วยการใกล้ชิดวัฎจักรเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน…

ดังนั้นหากลูกหลานท่านผู้ปกครองเลือกวิชาชีพนี้ จงภูมิใจ สนับสนุน
และช่วยเหลือเขา เพราะวิชาชีพนี้มีแต่ส่งเสริมให้เขาเกื้อกูลเอื้ออาทร เพื่อนมนุษย์ร่วมโลก รวมทั้งสั่งสมแต่ความดีไปตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันที่คิดจะย่างก้าวเข้าสู่วิชาชีพแพทย์©

 

 

Posted in: วงการแพทย์ Tagged: งานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์, ชัญวลี, ทำอย่างไรจึงจะได้เป็นแพทย์, บทความ, บุญเชียร, ปานเสถียรกุล, ศรีสุโข

Search everything ค้นหา

Archives บทความ

Categories ประเภท

Recent Posts ประกาศล่าสุด

  • Be Original: Chanesd Srisukho (Health and Beauty Center by Doctor Gla)
  • ร่วมรำลึกถึงคุณย่าอัมพร ตันเจริญ
  • รายการหมอกล้าเล่า ถึงไหนแล้ว
  • หมอกล้าเล่า ตอนที่ 4 ความอ้วน, รายการหมอกล้า, ชเนษฎ์ ศรีสุโข
  • หมอกล้าเล่า ตอนแรก, TheOrigin, ชเนษฎ์ ศรีสุโข, หมอกล้าเล่า

Pages หน้า

  • About (Eng)
  • Introduction to Bloggla.com
  • Multimedia
  • ชเนษฎ์ ศรีสุโข เว็บไซต์ส่วนตัว หมอ ต้นกล้า Chanesd Srisukho
  • รู้จักคุณหมอชเนษฎ์
    • Education & Work
    • การศึกษาและงาน
    • เกียรติประวัติและกิจกรรม

เลือกอ่านบทความตามคำค้นหา

cpird MWIT กระทรวง กลอน กล้า การชุมนุม การเมือง กีดกัน จับฉลาก จิตวิทยา จิตเวช ชุมนุม ชเนษฎ์ ชเนษฎ์ ศรีสุโข ทักษิณ ธรรม นักการเมือง นักศึกษาแพทย์ บทความ บุญเชียร ประท้วง ประวัติ ประวัติศาสตร์ ปัญหา ปานเสถียรกุล พญ มหาวิทยาลัยรังสิต มหิดลวิทยานุสรณ์ รังสิต รุ่นพี่ วงการแพทย์ ศรีสุโข สาธารณสุข หมอ หมอกล้าเล่า อาจารย์ อาทิตย์ เพิ่มพูนทักษะ เรียนต่อ แพทยสภา แพทย์ แพทย์ชนบท แพทย์พี่เลี้ยง แพทย์รังสิต โรคจิต

Copyright © 2015 (A) Blog (of) Gla : Chanesd Srisukho.