วิเคราะห์สถานการณ์วงการสาธารณสุขไทย 29 สิงหาคม 2557 ฝ่ายต่างๆ

กระทรวงสาธารณสุขไทย

 

http://www.hfocus.org/content/2014/08/7998

ข่าวล่าสุด เกี่ยวกับ โผตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข มีข่าวว่า อาจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน และอาจารย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ จะเข้าวิน…

ถ้าเป็นตามนี้จริง คิดว่าจะส่งผลต่อ ภาคส่วนต่างๆ ดังนี้

1.ชมรมแพทย์ชนบท คงจะยินดี เพราะอำนาจอยู่ในมือฝั่งเดียวกัน – คุยกันได้ (อาจารย์ทั้งสองท่านมีความสัมพันธ์อันดีกับชมรมแพทย์ชนบท) เรื่องนโยบายต่างๆที่เคยดำเนินไว้และเป็นปฏิปักษ์ต่อแพทย์ชนบท เช่น P4P เพื่อริดรอนเงินเดือนหมอ, การแบ่งเขตอำนาจผู้ตรวจราชการกระทรวง คงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นบวก

2.ส่วนสายแพทย์โรงพยาบาลทั่วไป-โรงพยาบาลศูนย์ฯ คงเสียใจกันบ้างเพราะเชียร์ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อาจารย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์) ให้ขึ้นเป็นรัฐมนตรี มาตลอด (เดิมทีท่านณรงค์ก็เป็นรักษาการณ์รัฐมนตรีมาหลายเดือน)

…แต่ความเสียใจล้วนเป็นเรื่องปกติ เพราะพวกหมอหมอ ก็ต้องทำงานกันต่อไป ช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นใคร มีนโยบายอะไรลงมาก็ตามที โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป คือหน่วยงานที่รับใช้คนไข้จำนวนมาก ในแต่ละภูมิภาค

3.สายโรงเรียนแพทย์ บางส่วนคงดีใจเพราะมีรัฐมนตรีเป็นคนกันเอง (อดีต คณบดี รามาธิบดีฯ และ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) คุยกันได้ และจริงๆแล้ว โรงเรียนแพทย์ได้รับผลกระทบจากกระทรวงฯน้อย เพราะมีอิสระในการบริหารงานเองมาก ในลักษณะคุณภาพการบริการที่ดีมากอยู่แต่เดิม

4.สายหมอเอกชน ก็คงจะงงกันเล็กน้อย บางส่วนที่เคยร่วมกันแสดงจุดยืนสมัย กปปส. อาจไม่รู้จัก หมอรัชตะ เพราะท่านไม่ได้แสดงออกแถวหน้าในการต่อต้านระบอบทักษิณ บางส่วน ก็สนับสนุน ครูบาอาจารย์ จริงๆแล้ว ท่านเป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ไฟเขียวทุกส่วนในการต้าน พรบ.นิรโทษกรรมทักษิณ ตั้งแต่แรก

นโยบายการดำเนินการของเอกชนก็คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก คือ ต้อง best practise รักษาดีที่สุด ค่าราคาแนวโน้มสูงเพราะว่ามีค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลเอกชนเองแต่ละแห่ง ต้องแบกรับมาก (คนที่ไม่ได้รู้งบการเงินโรงพยาบาลเอกชน จะไม่ทราบเลยว่าค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงเช่นไร) ความท้าทายคือการมีมาตรการควบคุมค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น และเป็นเรื่องยาก
…อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคโรงพยาบาลเอกชนของไทย เป็นภาคส่วนสำคัญ ที่แบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลรัฐบาล ไปมากหากมีการดำเนินนโยบายที่ให้ภาคเอกชนและรัฐบาลจับมือกันได้มากขึ้น ทั้งในแง่การเรียนต่อเฉพาะทาง การผลิตบุคลากร การใช้ทรัพยากรร่วมกัน โครงการร่วมรักษา ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น(เป็นความท้าทายของการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย ที่ต้องไม่แบ่งแยกระหว่างเอกชน และรัฐบาล แต่ให้มองประโยชน์ส่วนรวมของชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง)

5.แพทยสภา ก่อนหน้านี้มีข่าวที่ทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสื่อมเสียค่อนข้างมาก แม้ว่าจะเป็นองค์กรที่มีคุณค่าและคุณูปการต่อสังคมมาพอดู ในอดีต คิดว่าการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาใหม่ ต้นปี 2558 นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในแพทยสภาพอควร แพทย์ที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง คงเลือกหมอที่ภาพลักษณ์ดี ทางเลือกใหม่ที่ทำอะไรฉับไวทันใจสังคมมากขึ้น (ุถ้ามีคนเช่นนี้มาสมัครนะครับ) อาจารย์เก่าแก่ที่ยังมีคะแนนเสียงดีอยู่ แสดงว่าเป็นที่นิยมของหมู่แพทย์ไม่เปลี่ยนแปลง อาจารย์คนไหนที่หลุดไป แสดงว่า วงการแพทย์เริ่มเสื่อมความนิยมแล้ว (อันนี้ตรงไปตรงมา) (อันที่จริงวงการแพทย์ก็มีการปฏิรูปและพัฒนามาตลอดไม่หยุดยั้งนะครับ และจะดีมากยิ่งขึ้นถ้าในทุกองค์กรต่างๆ มีคนทำงานจริงเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน)

6.กระทรวงสาธารณสุข และประชาคมสาธารณสุขฯ คงต้องจับตารัฐมนตรีใหม่ และ สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปร.) สายแพทย์ อย่างมากว่า… …จะปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในส่วนงบประมาณต่อผู้ป่วยรายหัว, เรื่องตำแหน่งการจ้างพนักงานสาธารณสุขฯ ได้ดีเพียงไร…จะเป็น รัฐมนตรี ที่นำการปฏิรูปประเทศ ตามนโยบายระดับชาติ ของ คสช. ได้จริงหรือไม่???…จะบริหารจัดการกระทรวงอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ต้องยอมรับว่าจำนวนข้าราชการไทย มีจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ และหากนำไปเทียบกับอารยประเทศอื่น สัดส่วนข้าราชการของเราเยอะ แต่ระบบการบริหารจัดการยังไม่สู้ดีนัก) และที่สำคัญ ต้องลดความผิดพลาดได้มากยิ่งขึ้น….จะปฏิรูปภาคส่วนต่างๆ ในลักษณะให้มีอิสระในการบริหารงาน มีการบริหารที่เป็นระบบและมีคุณภาพมากขึ้นในลักษณะ องค์กรมหาชน ได้หรือไม่?

7.ภาคประชาชน ก็คงจะรู้สึกเฉยๆ รัฐมนตรีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ถ้าได้รักษาฟรีต่อ ก็ย่อมยินดี ทุกคนล้วนชื่นชอบรัฐสวัสดิการ (ส่วนคุณภาพการรักษา ก็ต้องค่อยๆพัฒนากันไปตามเหตุปัจจัย)

…อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการสร้างความรู้ในภาคประชาชนเองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย หรือป้องกันโรคที่จะเกิดได้เป็นสำคัญ

8.เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ฯ นำโดยคุณปรียนันท์ เป็นที่พึ่งพิงของผู้ป่วยยามยาก (เมื่อมีเหตุเสียหายจากการแพทย์) แต่เป็นมารร้ายสำหรับวงการแพทย์(ที่ทำผิดพลาด กลัวโดนฟ้อง)…เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยนี้ เป็นโจทย์สำคัญของรัฐมนตรีใหม่ ว่าถ้าจะปฏิรูปจริงๆแล้ว ควรยุติความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับประชาชน โดยคุยกันให้ลงตัวถึงกรณี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ฯ (หรือแม้แต่จะขยายกฎหมาย ม.41 ให้คุ้มครองได้มากขึ้น)

วิเคราะห์ตามนี้ด้วยปัญญาอันมีน้อย แต่ความหวังเห็นประเทศชาติปฏิรูปได้ มีมากครับ 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *