ปัญหาสองมาตรฐานในวงการแพทย์ 2553
ชเนษฎ์ ศรีสุโข bloggla.com
บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต และการเคลื่อนไหวภาคนักศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยแพทย์ขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่เป็นสมัยนักศึกษาแพทย์ จนถึงแพทย์ใช้ทุน
เป็น เรื่องจากปก วารสารปฏิวัติความคิด ติดอาวุธปัญญา Demo-crazy.com ฉบับ พฤศจิกายน 2553
(1)
ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต…
เดิมทีนั้นไม่ได้ตั้งใจจะเข้าเรียนแพทย์ เตรียมตัวไปต่อวิศวะคอมต่างประเทศ แต่ได้เปลี่ยนใจเอนท์เข้าแพทย์รังสิต เพราะความเห็นของทางบุพการี และต่อมาเมื่อได้อยู่ในแวดวงการทำงานของแพทย์ ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยจำนวนมากแล้ว ก็ภาคภูมิใจ คิดไม่ผิดที่ได้มาเรียน อย่างน้อย นอกจากช่วยเหลือคนอื่นก็ยังสามารถดูแลสุขภาพตนเองและญาติได้
หลายคน คงไม่เคยรู้ว่ามีคณะแพทย์ ของมหาวิทยาลัยรังสิตอยู่ ทั้งที่คณะนี้ได้เปิดมายี่สิบปีกว่าแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะโรงเรียนแพทย์ที่มีอายุ หรือมีชื่อเสียงมาเป็นเวลานาน
ด้วยความเป็นเอกชน คณะแพทย์นี้ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างภายในอยู่มาก การบริหารเชิงพาณิชย์ของนักธุรกิจการศึกษาบางส่วน การรับเส้นสายที่ไม่ได้ความของผู้ใหญ่บางท่าน และขาดการลงทุนด้านคุณภาพที่มากพอ ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล อาคารสถานที่ หลักสูตร แต่สิ่งเหล่านี้เริ่มมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
ผมจะไม่ทำเหมือนศิษย์เก่าหลายท่านที่ไม่กล้าเอ่ยว่าตนเองจบรังสิต เพราะความเป็นแพทย์รังสิตของผมนั้น เป็นสิ่งที่ผม เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ สร้างขึ้นมา
ปี 2549-2552 เป็นช่วงที่นักศึกษาแพทย์จำนวนหลายร้อยคน ชุมนุมกันอยู่บ่อยครั้งในมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นการชุมนุมภายในเพื่อพูดคุยกับผู้บริหาร ผลักดันเพื่อการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆที่มีมาโดยตลอด ดร.อาทิตย์ และรองอธิการบดีทั้งหลาย ก็ให้ความเมตตา และช่วยเหลือแก้ไขปัญหา บางเรื่องต้องใช้เวลา และชุมนุมกันหลายครั้งกว่าจะสัมฤทธิ์ผล กระนั้น เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นการทำภายใน ด้วยความรักในสถาบัน และไม่ต้องการลงสื่อสารมวลชนใดใดเพื่อทำลายสถาบัน ในปีหนึ่งๆ ก็พูดคุยกับผู้ใหญ่กันหลายครั้งจนแทบได้ปริญญาม็อบศาสตรบัณฑิต
นอกจากการแสดงพลังเพื่อการสนับสนุนในทางที่ดีจากผู้ใหญ่แล้ว พวกเรายังพยายามพัฒนาตนเอง การจะเป็นแพทย์รักษาคนไข้ได้นั้น(ไม่ใช่หมอเถื่อน)จะต้องมีการสอบใบประกอบโรคศิลป์ กว่าจะได้ใบประกอบฯนั้น ต้องสอบถึง3รอบ พวกเรารังสิตได้พยายามติวกันเอง ขวนขวายอ่านหนังสือ ฝึกปรือวิทยายุทธ์ภายใต้การสนับสนุนตั้งแต่สมัยคณบดีท่านก่อน (พญ.บุญเชียร ปานเสถียรกุล-เสียชีวิต) จนถึง คณบดีท่านปัจจุบัน (นพ.สุรวิทย์ เตชธุวานันท์) ทำให้ผลสอบผ่านใบประกอบเพิ่มมากขึ้นๆ
และ พวกเรายังมีกิจกรรมหลายๆอย่างให้กับสังคม ทั้งเรื่องวิชาการ การให้ความรู้ประชาชน การจัดค่ายให้ความรู้การเรียนต่อแพทย์ การทำงานในเครือข่ายสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) หรือ ของนานาชาติ นักศึกษาแพทย์รังสิตในยุคปัจจุบันมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากและได้รับการยอมรับจากสถาบันอื่น เป็นบอร์ดหรือประธานบริหาร สพท. หลายวาระ ล่าสุดก็เป็นเจ้าภาพร่วมกับพระมงกุฏจัดงานกีฬาเข็มสัมพันธ์ให้กับพี่น้องแพทย์ทุกสถาบันทั่วประเทศไทย
ตลอดจน การเรียนจบไปช่วยเหลือคนในชนบท ได้รางวัลแพทย์ชนบทมากมาย เป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ต่างๆ หลายคนไปเรียนต่อต่างประเทศสร้างชื่อเสียงอันดีให้แพทย์ไทย นับว่าคณะแพทย์นี้ผลิตแพทย์ที่ทำเพื่อมวลชน ไม่ใช่น้อย
(2)
แต่เมื่อมาพูดถึงปัญหาในวงการแพทย์ไทยอย่างหนึ่ง และอันที่จริงเป็นปัญหาของสังคมไทย… คือการเหยียดสถาบัน
ผู้ใหญ่และแพทย์อาวุโสจำนวนหนึ่ง มองรังสิตเป็นแพทย์พาณิชย์ และจ้องจับผิด คอยทำลายล้างอย่างอาฆาตแค้น…
ประเทศไทย เป็นประเทศที่แพทย์บางส่วน มักคิดถึงเรื่องสถาบัน ว่าของข้าแน่ ของเอ็งกระจอก ทั้งที่วิสัยทัศน์ที่ดี คือ การที่แพทย์ไทยความร่วมมือกัน ทำอย่างไรเพื่อพัฒนาวงการสาธารณสุขไทย และยกระดับคุณภาพแพทย์ไทยให้สู้ เกาหลี จีน ยุโรป อเมริกาได้ มากกว่าจะมาเข่นฆ่ากันเอง
เลยเกิดวิกฤตใหม่ล่าสุดของแพทย์รังสิต ก่อนหน้านี้เวลาเรียนจบแพทย์รังสิต มีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการจับฉลากไปเพิ่มพูนประสบการณ์ทั่วประเทศ และเมื่อครบปี จะได้ใบเพิ่มพูนประสบการณ์เพื่อเอาไปศึกษาต่อเฉพาะทาง อาทิเช่น สูติ ศัลย์ อายุรกรรม เด็ก ผิวหนัง จักษุ หูคอจมูก ฯลฯ
มีการประชุม นำโดยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขที่มีปมในใจกับแพทย์รังสิต เริ่มตั้งแต่กลางปี 2552 ไม่เชิญรังสิตเข้าร่วมประชุม และจะตัดรังสิตไม่ให้จับฉลากเข้าตามระบบเดิม และตัดหางปล่อยวัดให้ไปสมัครตรงตามโรงพยาบาลแต่ละที่เอง โดยข้ออ้างสารพัดเหตุผล
การสมัครตรงตามโรงพยาบาลแต่ละที่ ก็ยังมีการกีดกันรังสิตอยู่ไม่น้อย ด้วยความเข้าใจฝังหุ่นว่ารังสิตไม่มีความรับผิดชอบ แพทย์จบรังสิตจะไม่เก่ง รวมทั้งชอบลาออกก่อนครบปี ทั้งที่สถิติตามจริง แพทย์ใช้ทุนทุกที่ลาออกเกิน 50% ก่อนครบเวลากำหนดอยู่แล้ว (และเป็นรังสิตส่วนน้อยมาก) เป็นปัญหาระดับชาติ คือหมอจำนวนมากกระจุกในกรุง หมอจำนวนน้อยที่จะออกไปทำงานต่างจังหวัด ตลอดจนปัญหาการบริหารงานของโรงพยาบาลในเครือกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่สมัยสามสิบบาท ที่ทำให้โรงพยาบาลแต่ละที่ไม่มีเงินพอจะจ้างแพทย์รังสิต
ในการจับฉลากปี 2553 ที่ผ่านมา มีรุ่นพี่แพทย์รังสิตได้ต่อสู้เรื่องนี้ และประสบความสำเร็จได้จับฉลากพร้อมที่อื่น แต่เมื่อมาถึงปีที่ผมจะจบ (ปี2554) ปัญหาเดิมก็กลับมา
ทั้งที่การวัดความรู้ความสามารถแพทย์ ก็ใช้การสอบใบประกอบเหมือนกัน แพทย์รัฐบาลจำนวนหนึ่งที่ไม่ผ่านใบประกอบก็ยังไปจับฉลากได้ ส่วนรังสิตให้พวกเขาผ่านใบประกอบได้คะแนนสูงท็อปเทนประเทศ ก็ยังจะถูกตัดสิทธิ์?
จึงต้องสู้กันอีกรอบ เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเป็นมนุษย์ ความเป็นแพทย์ขั้นต่ำ หากไม่ได้จับฉลากแล้ว ต่อไปเรียนจบรังสิตก็คงต้องไปทำงานเอกชนเป็นส่วนใหญ่ และถูกพวกท่านบีบคั้นให้เป็นแพทย์พาณิชย์ ทั้งที่ไม่ยอมให้สิทธิ์และหนทางเราไปทำอะไรดีดีกับแพทย์รัฐบาลบ้าง
ก่อนลงคลิป :
1.ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขบางท่าน ที่ตัดสิทธิ์รังสิตครั้งนี้เดินสายพูดคุยเพื่อตัดสิทธิ์รังสิตในทุกที่ ทั้งที่โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (CPIRD) ทั้งที่สถาบันพระบรมราชชนก และในกระทรวงสาธารณสุขเอง ด้วยความแค้นต่อ ม.รังสิต และอาจารย์บุญเชียร คณบดีผู้เมตตาที่เมื่อสมัยยังมีชีวิตเป็นผู้พิทักษ์ไม่ให้ใครมาริดรอนสิทธิและทำร้ายนักศึกษาแพทย์ได้
2.ฝั่งแพทย์รังสิต แม้ทราบข่าว แต่ยังไม่มีผู้บริหาร คณาจารย์ กระทำการใด ตัวแทนนักศึกษาแพทย์พูดคุยหลายครั้ง ท่านบอก ศรีทนได้ เขาจะให้เราทำอย่างไรก็ควรต้องจำยอม
3.นักศึกษาแพทย์ นั่งรอชะตากรรม เรียนจบอย่างไร้อนาคต ไร้ที่ยืนในสังคม ไร้เกียรติไร้ศักดิ์ศรี บ้างบ่นว่าถ้ารู้มาเรียนที่นี่เป็นเช่นนี้ คงซิ่วกันทั้งคณะ ทั้งที่สอบใบประกอบ (ของ ศรว. แพทยสภา) เหมือนกัน แต่จบแล้วอาจต้องไปขายกล้วยปิ้ง
หลังลงคลิป :
หลังลงคลิปไตรภาค youtube “วิกฤตใหม่”
คลิป1 http://www.youtube.com/watch?v=VPhvEDM9HM0
คลิป2 http://www.youtube.com/watch?v=CpnD4FGPF2g
คลิป3 http://www.youtube.com/watch?v=RR_n4JpkakQ
1.แกนนำนักศึกษาแพทย์ ถูกผู้ใหญ่บางคนโทรขู่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย… ถูกตำหนิ จากผู้ใหญ่ (ผู้ซึ่งกระทำการกลั่นแกล้งเรา หรือกระทำการอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น และหากเราไม่ทำอะไร ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นจริงๆ)
2.มีการเรียกประชุมระหว่างผู้บริหารกับนักศึกษาแพทย์…
3.ตัวแทนนักศึกษาแพทย์ เดินสายคุยกับผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร อาจารย์ ผู้ปกครอง
4.มีการสั่งการจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย… ให้จบเรื่องนี้โดยเร็ว (ไม่ต้องการเห็นภาพ D DAY รอบ 3 นักศึกษาเดินขบวน)
5.ได้มีการพูดคุยกับผู้ใหญ่ของรังสิต ของแพทยสภา และทางกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น…
บทสรุปส่งท้ายปีเก่า
ปัจจุบันด้วยการประสานงานกับหลายฝ่าย เรื่องในปีนี้ จบลงด้วยดี… โดยอาจมีการสอดแทรกนโยบายให้เงินเดือนพวกรังสิตไม่เหมือนกับที่อื่น คือกระทรวงไม่จ่ายให้ ให้แต่ละโรงพยาบาลจ่ายเงินเอง (อย่าคิดว่าเราไม่รู้นะฮับ)
นักศึกษาแพทย์ต้องเหนื่อยกันมากกับการทำหน้าที่นอกเหนือหน้าที่ตนเอง ด้วยความรักในสถาบัน กระนั้น ปีต่อไปก็มีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก…
ทุกครั้งที่เรามาทำอะไรดีดีเพื่อคณะ เราจะสงสัยว่า ทำไมผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าของมหาวิทยาลัย ต้องรอให้เกิดปัญหาทุกครั้งไป ต้องรอให้เด็กมาร้องเรียนปรับหลักสูตร ขออุปกรณ์เพิ่ม ขออาจารย์เพิ่ม เรียกร้องสร้างอาคารจนสำเร็จ มีห้องเพิ่ม 3-4 ที่ จากที่ไม่เคยมีอะไรเลยในมหาวิทยาลัยมา 20ปี (เราจึงสรรเสริญและรักคณบดีบุญเชียรและคณาจารย์สมัยนั้น เพราะพวกท่านสนับสนุนนักศึกษาแพทย์ทั้งที่ไม่ได้เงินส่วนแบ่งค่าเทอมพวกเราหลายร้อยล้านจากทางมหาวิทยาลัยสักเท่าไร)
หรือแม้แต่ปัญหาการจับฉลาก ก็ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ต้องเริ่มต้นทำอะไรเองก่อน…
ทำไปไม่เคยได้ประโยชน์กับตนเอง มีแต่ประโยชน์กับรุ่นน้อง ชนรุ่นหลังซึ่งรู้เพียงว่าได้ตึก ได้สิ่งดีๆ เพราะมหาวิทยาลัยประทานให้ สังคมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยได้สร้างสรรสิ่งดีเหล่านี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลายที่เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยรังสิตได้ช่วยเหลือเด็กเรื่องการจับฉลาก
อนาคต ต้อนรับปีใหม่
หวังว่า ท่านผู้ใหญ่ทุกฝ่าย จะเมตตา และไม่สร้างสองมาตรฐานในวงการแพทย์ให้เพิ่มขึ้นไปครับ
เราไม่อยากทำหน้าที่ผู้ชุมนุมอีกแล้ว เราอยากเป็นหมอที่ได้ตั้งใจศึกษาหาความรู้ ดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด เท่านั้นเองครับ
วงการแพทย์ไทย จะอยู่ได้ด้วยการรักสามัคคี มีจุดร่วมเดียวกันคือการสร้างสรรสังคมไทย สร้างสรรวงการแพทย์ที่มีองค์ความรู้ สร้างความสุขให้ประชาชน ภายใต้วิสัยทัศน์ว่าจะร่วมมือกันอย่างไรให้แพทย์มีความสามารถ มีความดี คุณธรรม การสร้างสรรงานวิจัย อุปกรณ์การแพทย์ การผลิตยา ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนช่วยเหลือประชาชนได้ในต้นทุนที่คุ้มค่าเหมาะสม เป็นต้น
หากมองหน้าที่ของแพทย์ด้วยปัญญาแล้ว จะลดการแบ่งแยกชนชั้น ทั้งกับแพทย์ด้วยกัน และกับประชาชนไปได้มาก
การเป็นแพทย์นั้นคงไม่ใช่การเป็น เพื่อหวังได้เกียรติหรือการยอมรับจากใคร แต่เป็นเพื่อตอบแทนเจตจำนงค์ในการทำคุณประโยชน์แก่สังคมครับ
ศัพท์เกี่ยวกับการศึกษาต่อทางการแพทย์ (1) | Bloggla – Chanesd Srisukho's website
[…] โควตาแพทย์ใช้ทุนจะถูกกำหนดโดยแพทยสภา ว่าในจังหวัดนั้นๆ สามารถมีแพทย์ใช้ทุนได้กี่คน ซึ่งมักกำหนดไว้มากกว่าจำนวนแพทย์ที่จบ แต่ช่วงหลังมีปัญหาว่าแพทยสกาไม่สามารถร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุข และ ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ได้ดีเท่าที่ควร จึงเกิดปัญหาว่าคนที่เรียนจบมา กพ. ไม่จัดตำแหน่งให้เป็นข้าราชการกันได้ทุกคน และ ตำแหน่งที่แพทยสภาประกาศ กับตำแหน่งรับสมัครจริงไม่ตรงกัน ตำแหน่งบางปีน้อยกว่าคนที่เรียนจบ เลยมีการกีดกันบางสถาบันไม่ให้เข้าร่วมการจับฉลากจัดสรรพื้นที่แพทย์ใช้ทุน บางปีมีการประท้วงของบางสถาบันวุ่นวายไปหมด http://www.bloggla.com/?p=631 […]