คำศัพท์เกี่ยวกับการศึกษาต่อทางการแพทย์ (1)
(Terminology about Thai Medical Education : part I)
ชเนษฎ์ ศรีสุโข bloggla.com – มิถุนายน 2554
ด้วยรำลึกถึง อ.บุญเชียร ปานเสถียรกุล และขอบคุณบุพการี ต้นแบบอย่างแพทย์ที่ดี
*เขียนอุทิศไว้เป็นวิทยาทานและความบันเทิงแก่แพทย์รุ่นหลัง ที่รุ่นพี่หรืออาจารย์ของน้องอาจไม่ได้บอกไว้ชัดเจน ความดีทั้งหมดยกให้วงการแพทย์ครับ
คำเตือน บทความนี้อาจมีสาระอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เสียดสีสังคมเพื่อความบันเทิง
ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น…
นิสิตแพทย์, นักศึกษาแพทย์ นิสิตนักศึกษาที่เรียนใน คณะ/วิทยาลัย/หน่วยงาน ที่จัดสอนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต(6ปี) ในประเทศไทย
สำหรับความแตกต่างกันอย่างไรนั้นส่วนใหญ่คนจะเถียงกันเพราะอยากสร้างความเด่นของสถาบัน แต่ไม่รู้ที่มาว่ามันเริ่มจากการแปลของต้นสำนักทางวิชาการที่แตกต่างกัน และไม่ว่าจะเถียงกันว่าข้าคือนิสิตแพทย์! หรือข้าคือนักศึกษาแพทย์! สุดท้ายคุณก็ใช้คำนี้แค่เฉพาะเวลาคุณเรียน จบมาก็เป็น นายแพทย์/แพทย์หญิง เหมือนกันหมด แล้วจะเถียงกัน เพื่ออะไร?
แพทย์นิวแทร็ค หรือ New tract หรือ แพทย์สูตรใหม่ หรือ แพทย์แนวใหม่ คือ นิสิตนักศึกษาแพทย์ ที่เรียนจบปริญญาทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมาก่อน และเรียนต่อหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (แนวใหม่) ภาษาอังกฤษของคำว่าแนวใหม่ก็คือ New tract แต่ถ้าเรียกโดยใช้ภาษาไทยว่า “แพทย์แนวใหม่” อาจจะดูไม่เท่ สับสนกันได้บ้าง จะเกิดคำถามว่าทำไมต้องแนวใหม่ แนวใหม่อย่างไร ไม่เห็นจะใหม่เลย เลยตัดปัญหาเรียกว่า New tract ซะ คนไทยจะได้ไม่ถามต่อว่า Excuse me! What the hell is ‘New tract’?
ดังนั้น แพทย์บางคนที่อาจเข้าเรียนหลักสูตรแพทย์ทั่วไป แม้ว่าจะอายุมากถึงสามสิบก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นแพทย์แนวใหม่นะครับ (เพราะเป็นสูตรเก่า)
แพทย์ New tract จะเรียนกันแค่ 5 ปี* เท่านั้น เพราะมันคือ “แนวใหม่” ผู้เรียนส่วนใหญ่เมื่อจบปริญญาตรีมาก่อน ก็จะมีวุฒิภาวะ และวัยวุฒิที่มากขึ้น แพทย์ New tract ในหลายๆที่ เวลาสอบวัดความรู้ทั่วประเทศ (ศรว.) จะได้คะแนนระดับสูงมากก็มี
แต่กระนั้น แพทยสกาก็พยายามกดดัน และลดการอนุญาตให้เปิดสอนแพทย์ New tract ในหลายๆที่ ด้วยบอกว่ามีปัญหาคุณภาพ (แต่กลับอนุมัติให้เปิดโรงเรียนแพทย์ที่สอนหลักสูตร6ปีอีกมากมายร่วมสิบแห่ง) จริงๆอาจเพราะไม่ชอบเปิดโอกาสให้คนที่เคยตัดสินใจผิด หรือคนที่เรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว กลับมาเรียนแพทย์ใหม่
สุภาษิต “ไม้แก่ดัดยาก” จึงอาจใช้กับคนบางประเภท ได้ดีกว่า นิสิตนักศึกษาแพทย์ New tract ครับ
*แพทย์ New tract จะเรียนในชั้นปรีคลินิก 2 ปี และชั้นคลินิก อีก 3 ปี
ปรีคลินิก มันไม่ใช่หัวปลี!!! แต่มันคือปรีคลินิก จะปรีคลินิกกันไปทำไม มันมาจากคำว่า Preclinic (จริงๆควรเรียกว่า พรีคลินิก) คือการเรียนแพทย์ จะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ปรีคลินิก (เรียน ปี1 ถึง ปี3 เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ แต่ยังไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยจริง คือการเตรียมตัวเตรียมใจ “ก่อน” ขึ้น “คลินิก”) ส่วน ภาคคลินิก คือการเรียนแพทย์ในส่วน ปี4ถึงปี6 โดยประมาณ เป็นการเรียนรู้กับผู้ป่วยจริง
เอ็กซ์เทิร์น หรือ Extern ใช้เรียกนิสิตนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย ก่อนเรียนจบ คล้ายๆกับก่อนจะเป็นนายแพทย์/แพทย์หญิง
เป็นชั้นปีแห่งการเรียนรู้ที่หนัก และทำงานอย่างโหดที่สุด โดยทั่วไปจะไม่มีคู่มือการใช้งานเอ็กซ์เทิร์น ดังนั้น เอ็กซ์เทิร์นในหลายๆที่จะสามารถรับใช้งานได้ทุกอย่าง (และจะได้รับการประเมินผ่านว่า “ใช้ได้” แทนที่จะเป็น “ดีมาก” อาจเพราะคนประเมินเข้าใจผิดว่า การใช้ได้ คือ การใช้งานได้ทุกอย่าง)
ใช้ตั้งแต่ซื้อกับข้าวให้แพทย์ที่อาวุโสกว่า การเช็ดถู การเก็บมูลฝอย การเก็บมูลผู้ป่วย การฉีดยา การทำหัตถการทุกชนิดที่ปกติพี่พยาบาลจะเป็นผู้ทำ การทำงานเอกสารมากมายหรือเป็นเสมียนให้แพทย์ที่อาวุโสกว่า การถูกโบ้ยงาน การถูกก่นด่าดุด่าว่ากล่าวโดยไม่มีสาเหตุ การเป็น “เบ๊” รับใช้ทุกสถานการณ์ การอดหลับอดนอนเพื่อถูกตามก่อนใครๆให้รับรายงานค่าแล็บที่ปกติ เป็นต้น
คะแนนเอ็กซ์เทิร์น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ควรขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบด้วย เพราะชีวิตแพทย์เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน จะทำเล่นๆไม่ได้
…แต่กระนั้น คะแนนมักผันผวนยิ่งกว่าตลาดหุ้น และคาดเดาไม่ได้ ไม่ขึ้นกับปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น
การใช้งานเอ็กซ์เทิร์นที่ดี คือ ไม่ว่าคุณจะใช้งานเอ็กซ์เทิร์นอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตเท่าไร แค่คุณเลี้ยงข้าวเอ็กซ์เทิร์นสักมื้อ เขาก็ดีใจแล้ว! (แต่ที่เคยเจอ แย่จัดๆ คือใช้งานทุกอย่าง แต่เจอกันร้านข้าวต้ม 15 บาท แถวอนุสาวรีย์ ยังไม่คิดแม้แต่จะเลี้ยง! สิ่งที่เอ็กซ์เทิร์นต้องการไม่ใช่เงิน 15 บาท แต่เป็นเรื่องของคำว่า “น้ำใจ” ที่อาจไม่มีให้เห็นได้ในแพทย์ที่อาวุโสกว่า(บางคน) )
โรงเรียนแพทย์เอกชน หมายถึงโรงเรียนแพทย์ที่ไม่ใช่ของรัฐบาล มักถูกดูแคลนทั้งเรื่องคุณภาพ และการผลิตแพทย์พาณิชย์ จะบอกให้จริงๆแล้วมีแต่เฉพาะเจ้าของมหาวิทยาลัยที่หน้าเงิน และกลุ่มนักธุรกิจการศึกษา ที่เน้นแต่จะเอาเงิน ไม่เอาเงินที่ได้ปีละหลายร้อยล้านบาทมาพัฒนาคุณภาพใดใด เลยทำให้เป็นเช่นนั้น จ้างคณบดีที่ดีดีได้ก็ไม่สนับสนุนเขา ปล่อยให้เขาสู้เพียงลำพังกับลูกศิษย์เขา จนเป็นมะเร็งตาย คนที่ทำงานอื่นๆไม่ชราภาพก็ทำงานไม่ได้เรื่องกันสักคน
ในส่วนนิสิตนักศึกษา แม้จะถูกริดรอนสิทธิและกดดันจากผู้ใหญ่ในวงการแพทย์มากมาย ให้เกือบกลายเป็นแพทย์ชั้นสอง แต่พวกเขาก็รวมพลังกัน พยายามสร้างสรรกันเอง ติวกันเอง ทำกิจกรรมต่างๆกันเอง
ยังมีการพูดคุยกับผู้ใหญ่อยู่เป็นระยะๆเพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ดีขึ้น คณาจารย์ที่ดีขึ้น ทรัพยากรที่ดีขึ้น หลายครั้งพูดคุยไปไม่รู้เรื่องจึงเกิดการชุมนุมแสดงพลัง หลังเรียกร้องช่วงปี พ.ศ. 2549-2552 จากที่โรงเรียนแพทย์เอกชนเปิดมา20ปีไม่เคยมีอาคารของคณะแพทย์ ก็ได้มีขึ้นหลายส่วน จากหลักสูตรเก่าแก่สิบๆปีไม่เปลี่ยนแปลงก็พัฒนาให้ดีขึ้น จากทรัพยากรต่างๆไม่มีอะไรเลยก็มีมากขึ้น เด็กๆในคณะนี้ยังหมั่นพัฒนาตนเอง จากสอบผ่านใบประกอบ % น้อยๆ ก็เพิ่มเป็น % เยอะๆขึ้น (และพวกที่ยังสอบไม่ผ่าน ก็เป็นพวกที่เจ้าของมหาวิทยาลัยรับเส้นเข้ามาทั้งนั้นล่ะครับ จึงอย่าโทษใครเลย ท่านเองนั่นแหละ!)
เคยมีปัญหาเรียนจบ ไม่มีหนทางไปไหนต่อ เพราะผู้ใหญ่ในกระทรวงหรือในบางองค์กรกีดกัน ก็ต้องสู้กันเองอีก… สู้มันทุกเรื่องทุกปี ทั้งเรียน ทั้งกิจกรรม ทั้งเดินขบวน…
นักศึกษาแพทย์ที่จบจากสถาบันแห่งนี้จึงแข็งแกร่ง เก่ง ทนทานทรหดอดทน และพิสูจน์ตัวเองได้มากขึ้นกับวงการแพทย์ยุคใหม่ น่าเสียดายแพทย์ยุคเก่า หลายท่านไม่พยายามทำความเข้าใจกันบ้าง…
การมองดูแคลนโรงเรียนแพทย์เอกชน จึงไม่ถูกต้องอย่างแวร๊งงงง
ติดตามอ่าน http://www.bloggla.com/?p=394
ศรว. ชื่อเต็มคือ ศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการปรากอบวิชาชีพเวชกรรม (ศรว.) มีตั้งขึ้นเลียนแบบประเทศสหรัฐอเมริกา (USMLE) เป็นศูนย์ที่จัดสอบวัดความรู้ 3 ขั้นตอน (อย่าถามว่าทำไมต้องมี 3 ขั้นตอน ก็เพราะอเมริกามี 3 ขั้นตอนไง)
ศรว. มีไว้เพื่อจัดสอบ เป็นองค์กรลูกของแพทยสภา
เมื่อนิสิตนักศึกษาแพทย์คนใด สอบผ่านครบ 3 ขั้นตอน ก็ส่งชื่อให้แพทยสภาออกใบประกอบโรคศิลป์ หรือ เลข ว. ให้
การมี เลข ว. หรือชื่อเก่าว่า “ใบประกอบโรคศิลป์” จะทำให้คนผู้นั้น เป็นแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนได้โดยไม่ต้องแอบซ่อน
ทีนี้ ผมเคยสงสัยว่า server (คอมพิวเตอร์) ที่ใช้เก็บคะแนนสอบ ทำไมต้องไปยืมของ โรงเรียนแพทย์ บางแห่ง ใช้ด้วย (จะทำให้นักศึกษาแพทย์โรงเรียนแพทย์นั้นรู้ข้อมูลสอบก่อนคนอื่นหรือเปล่า?) ก็รู้สึกว่า ศรว. จะไม่ค่อยดูมืออาชีพเท่าไร สอบถามผู้เกี่ยวข้องได้คำตอบว่า “เพื่อประหยัดงบประมาณ”
โอ๊ะโอ แต่เวลา ศรว. เก็บเงินพวกเราเพื่อไปจัดสอบ คนละ 3000-5000 บาท ต่อคน (นักศึกษาแพทย์รุ่นละเกือบ 2000คน สอบทุกปีปีละ3ขั้นตอน ขั้นตอนละ 2-4เที่ยว) ถ้าผมไม่ตกเลข น่าจะได้เงินเฉพาะค่าจัดสอบ ปีละประมาณมากกว่า 10,000,000 บาท (อ่านว่าสิบล้านบาท) น่าจะซื้อ server เครื่องละไม่กี่หมื่น มาทำหน้าที่เก็บผลข้อสอบได้นะครับ เรียนฝากผู้ใหญ่ใน ศรว. ที่เคารพรักด้วยครับ และหวังว่าท่านจะรักผมบ้างเช่นกัน จุ๊บๆ
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือ ใบ ว. หรือ เรียกทับศัพท์ว่า ใบ License หรือ เรียกเก่าๆว่าใบประกอบโรคศิลป์ เป็นใบที่ทำให้หมอผู้นั้นสามารถรักษาคนในประเทศไทยได้ ใบนี้จะต้องรอการอนุมัติจากแพทยสภา ซึ่งมีการออกใบช้าเร็ว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสถาบันที่คนในแพทยสการักหรือชังขนาดไหน บางสถาบันส่งหลักฐานช้าทำให้หมอบางส่วนไปทำงานโดยยังไม่มีใบรับรอง ว.
แต่ก็ไม่เป็นไร เมื่อใดก็ตามที่สอบ ศรว. ผ่านทั้ง 3 ขั้นตอน ในประเทศไทย เมื่อนั้นคุณได้เป็นหมอ (แต่ก็รอหน่อยเท่านั้นเอง)
แพทยสกา สภาของแพทย์ เพื่อประโยชน์ของประชาชน(แพทย์)
เป็นสภาที่ผลัดเปลี่ยนกรรมการกันไปมา เป็นประมาณสิบปี โดยใช้การเลือกตั้งของเพื่อนแพทย์ทั่วประเทศ จะมีจดหมายส่งไปให้เลือกถึงบ้าน (แต่ยามปกติ ไม่ส่งอะไรมา) การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา แต่ละครั้ง คนใช้สิทธิ์ ประมาณ 10-20% เป็นตัวเลขที่น่าหดหู่
การที่วงการแพทย์ไทยจะไม่เจริญอย่างไร โปรดอย่าไปโทษแพทยสภา เพราะคนไม่กี่สิบคน “ไม่มีความสามารถ” ที่จะมาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ (บางคนลำพังเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเองยังยากเลย)
สิ่งที่บางองค์กรมักเก่งที่สุด คือ การจับ การฟ้อง การรับเรื่องร้องเรียน ของ วุฒิศักดิ์คลินิก (และคลินิกเสริมความงามอื่นๆ) โจมตีว่าเขา “โฆษณาเกินจริง” “หลอกใช้แพทย์เป็นเครื่องมือ” “เป็นแพทย์พาณิชย์” “ทำให้วงการแพทย์เสื่อมเสีย” ฯลฯ
สถาบันที่ นพ.วุฒิศักดิ์ เรียนจบมา ก็มักจะโดนด่าว่าประณามในการประชุมแพทยสภา ว่าอาจารย์ไม่สอนสั่ง ไม่สั่งสอน ไม่มีความเป็นแพทย์ ง่าวๆ ฯลฯ (ต่อให้แพทย์ทั้งคณะที่เหลือจะได้รับรางวัลเกียรติคุณ เป็นแพทย์ทุ่มเทในชนบทใดใดก็ตาม)
…แต่ไม่ต้องห่วงครับ ถ้าเป็นแพทย์ที่จบจากสถาบันอื่น ปลอดภัย ไม่ถูกแพทยสกาว่าครับ
คนบางคนก็เก่งนักกับการคอยเปรียบเทียบผู้ด้อยโอกาส คอยเปรียบว่าคณะไหนใหญ่กว่าคณะไหน ใครอำนาจมาก เป็นการแข่งกันเป็นใหญ่ในกะลา ที่ชื่อว่า “วงการแพทย์ไทย” แต่ไม่มีวิสัยทัศน์ว่า “ทำอย่างไร ให้แพทย์ไทยทุกคณะ ทุกสถาบัน ร่วมมือกันทำให้วงการแพทย์ไทยไปไกลถึงระดับโลก”
งานอื่นๆที่แพทยสกาทำ ลองถามแพทย์ทั่วไปดู ก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าแพทยสกา มีไว้ทำไม เคยทำอะไรให้เราบ้าง?
พูดไปก็ด้วยความเคารพรักครับ ผู้ใหญ่ในแพทยสภาหลายท่านยังเป็นที่พึ่ง และทำสิ่งที่ถูกต้องให้แก่วงการแพทย์เราได้มากครับ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ หลายเรื่องเป็นการปิดทองหลังพระ ก็ขอให้อนิสงฆ์นั้นทำให้แพทยสภาเจริญยิ่งๆขึ้นไปครับ
แพทย์ใช้ทุน หมายถึง Internship เป็นคำที่มาจากต่างประเทศเช่นกัน
เป็นคำที่ค่อนข้างสับสนกันกับคำว่า แพทย์พี่เลี้ยง และ แพทย์อื่นๆ
แพทย์ใช้ทุน คือแพทย์ที่จบจากสถาบันสอนแพทย์แต่ละแห่งแล้ว เข้าโครงการเพิ่มพูนทักษะ ของกระทรวงสาธารณสุข
นิสิตนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ซึ่งจบจากสถาบันของรัฐ มีทุนผูกพันของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องเข้า “โครงการจัดสรรพื้นที่เพิ่มพูนทักษะ” หรือเรียกว่า “การจับฉลาก” เพื่อไปอยู่ในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ และ จะเป็นแพทย์ใช้ทุนปี 1 ถ้าอยู่ต่อ ปี 2 ปี 3 มักจะเป็นการใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชน(โรงพยาบาลขนาดเล็กในชนบท) ต่างๆ
แพทย์ใช้ทุน อาจหมายถึงแพทย์อื่นๆได้ เช่น แพทย์พี่เลี้ยง(เป็นแพทย์อีกประเภท) เขากำหนดกันไว้ว่า ก่อนเป็นแพทย์พี่เลี้ยง ต้องเป็นแพทย์ใช้ทุน เช่นกัน (ผ่านโครงการเพิ่มพูนทักษะของกระทรวง)
แพทย์ใช้ทุนส่วนใหญ่(ที่ไม่ใช่แพทย์พี่เลี้ยงและแพทย์อื่นๆ) รัฐบาลกำหนดไว้ว่า ให้ใช้ทุน 3 ปี แต่จำนวนมากกว่าครึ่ง ลาออกก่อนครบ 3 ปี ครับ และผู้ใหญ่ในวงการแพทย์ไทย ก็ทำเป็นเฉยๆ ถ้าเป็นแพทย์ใช้ทุนที่จบจากสถาบันมีชื่อเสียง ก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเป็นสถาบันเล็กๆ หรือเอกชน ก็จะถูกจัดหนักอย่างไม่มีเยื่อใย (สถาบันที่มีชื่อเสียง ก็เคยเป็นสถาบันเล็กๆมาก่อนทั้งนั้น และทุกวันนี้เทียบระดับโลกก็ยังไม่ได้ใหญ่ที่สุด แต่แพทย์อาวุโสบางส่วนก็ยังไม่เข้าใจ เขาเลยเรียกกันว่า มัวอยู่ในกะลาไงครับ อ๊บๆ)
การเป็นแพทย์ใช้ทุน จุดประสงค์หลักในอดีต คือ เพื่อการเพิ่มพูนความรู้ทักษะ ประสบการณ์ แพทย์ใช้ทุนสมัยก่อนสามารถผ่าตัดสมอง ผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าคลอด รักษาโรคยากๆจำนวนมากได้ แถวพิจิตร(บ้านผม) 30ปี ก่อนยังมีแพทย์ใช้ทุน ที่ผ่าตัดม้ามเองได้ด้วย
แต่การเป็นแพทย์ใช้ทุนในปัจจุบัน จุดประสงค์หลัก คือ เพื่อการศึกษาต่อ ครับ กระแสต่างประเทศ ทำให้เราต้องเรียนกันเข้าไป เรียนเพื่อความรู้ เรียนให้แก่ จนการเรียนแพทย์กว่าจะจบเฉพาะทางใช้เวลา มากกว่า 10 ปีครับ เรียนกันไปทำไม?
โควตาแพทย์ใช้ทุนจะถูกกำหนดโดยแพทยสภา ว่าในจังหวัดนั้นๆ สามารถมีแพทย์ใช้ทุนได้กี่คน ซึ่งมักกำหนดไว้มากกว่าจำนวนแพทย์ที่จบ แต่ช่วงหลังมีปัญหาว่าแพทยสกาไม่สามารถร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุข และ ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ได้ดีเท่าที่ควร
จึงเกิดปัญหาว่าคนที่เรียนจบมา กพ. ไม่จัดตำแหน่งให้เป็นข้าราชการกันได้ทุกคน และ ตำแหน่งที่แพทยสภาประกาศ กับตำแหน่งรับสมัครจริงไม่ตรงกัน ตำแหน่งบางปีน้อยกว่าคนที่เรียนจบ เลยมีการกีดกันบางสถาบันไม่ให้เข้าร่วมการจับฉลากจัดสรรพื้นที่แพทย์ใช้ทุน บางปีมีการประท้วงของบางสถาบันวุ่นวายไปหมด http://www.bloggla.com/?p=631
ใบเพิ่มพูนประสบการณ์ คือ ใบแห่งความศักดิ์สิทธิ์ สำหรับแพทย์ใช้ทุน คือ ใบรับรองที่แพทยสภาประกาศให้ท่านได้เป็นแพทย์ที่ผ่านการเพิ่มพูนประสบการณ์ครบ 1 ปี ในโรงพยาบาลรัฐต่างๆ ใบนี้มีค่าเพื่อการเรียนต่อสาขาเฉพาะทางต่างๆส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าไม่มีใบนี้ ต่อให้ท่านเป็นเมพเทพขนาดเก่งจบมาจากสถาบันชั้นนำของโลก อยากทำงานในไทย ต้องไปติดต่อแพทยสภา เพื่อขอเป็นแพทย์ฝึกหัดเสียก่อน รอเวลาให้ครบกำหนด จึงจะเรียนต่อเฉพาะทางได้
หลายคนได้ใบนี้แล้วก็ลาออกจากการใช้ทุนเลย จ่ายเงินทดแทน เพราะถือว่าได้ใบสวรรค์แล้ว เป็นตัวอย่างที่แย่ยิ่ง
แพทย์พี่เลี้ยง เป็นโครงการการผลิตแพทย์ที่ผันไปจากแพทย์ใช้ทุน จะมีโครงการแพทย์พี่เลี้ยงในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายๆแห่ง และต้นสังกัดต่างกันได้ การเป็นแพทย์พี่เลี้ยง เหมือนดั่งชื่อ ก็คือ เป็นแพทย์เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นิสิตนักศึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นๆ การเป็นแพทย์พี่เลี้ยง จะไม่ใช่ปีแรกหลังเรียนจบ (เพราะจะเป็นแพทย์ใช้ทุนชั้นปีที่ 1 เหมือนกันหมด) แต่จะเป็นในปีที่ 2, 3 ,4 ขึ้นมา
โดยความแตกต่างของแพทย์พี่เลี้ยง กับแพทย์ใช้ทุน คือ ถ้าเป็นแพทย์ใช้ทุน ในปีที่ 1 จะวนผ่านทุกแผนกหลัก คือ สูติ ศัลย์ เมด(อายุรกรรม) เด็ก และ อื่นๆ (แล้วแต่การจัดของโรงพยาบาล) ในปีที่ 2,3 อาจไปอยู่โรงพยาบาลชุมชน และดูแลผู้ป่วยทุกแผนก
ในขณะแพทย์พี่เลี้ยง จะสามารถเลือกแผนกที่จะอยู่ได้ เช่นแพทย์พี่เลี้ยงศัลย์ แม้ในปีแรกเป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 1 ผ่านหมดทุกแผนก แต่ปี2-3 จะอยู่เฉพาะแผนกศัลย์ นั่นเอง
อย่างไรก็ตามที่ว่ามาเป็นหลักใหญ่คร่าวๆเท่านั้น บางแห่งอาจเรียกผิดถูกธรรมเนียมได้เช่นกัน
แพทย์พี่เลี้ยงในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลใหญ่ๆ บางที่ เมื่อเป็นแพทย์พี่เลี้ยงครบจำนวนปีกำหนดแล้ว สามารถขอสอบ “อนุมัติบัตร” ของแพทยสภา เพื่อเป็น แพทย์เฉพาะทาง ได้เลย
แพทย์พี่เลี้ยงในปัจจุบัน ถ้าจะให้แบ่งชนิด ผมขอแบ่งเป็นสองแบบ คือ 1.แพทย์พี่เลี้ยงของส่วนกลาง CPIRD กับ 2.แพทย์พี่เลี้ยงที่ไม่ใช่ของส่วนกลาง CPIRD แพทย์พี่เลี้ยงทั้งสองแบบนี้จะมีต้นสังกัดต่างกัน จะมีแพทย์พี่เลี้ยงของโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยหลายๆแห่ง ที่ต้องการคัดสรรคนไปเป็นอาจารย์แพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ก็จะให้ทุนแพทย์พี่เลี้ยงด้วย
ซีเพิร์ด หรือ CPIRD หรือ สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาชนบท เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตามชื่อ คือผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาชนบท ปัจจุบัน 2554 จะมีโครงการร่วมกับหลายองค์กร ให้เด็กมัธยมปลาย สอบเข้า เพื่อเป็นแพทย์ชนบท โดยมีจังหวัดซึ่งเป็นจังหวัดชนบท เป็นเจ้าของทุน เรียนจบมาจะได้ไปอยู่ในจังหวัดนั้นๆ เป็นการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชนบท
กระนั้นเองก็มีการผลิตแพทย์พี่เลี้ยง CPIRD ด้วย คือ ให้ทุนแพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตมาแล้ว เพื่อเป็นแพทย์ที่เลี้ยงใน โรงพยาบาลต่างๆที่สังกัด CPIRD ช่วยสอนหนังสือนิสิตนักศึกษา และเป็นการเพิ่มพูนโครงสร้างแพทย์ในโรงพยาบาลของชนบทนั้นๆ
องค์กรแพทย์ CPIRD จะมีผู้อาวุโสอยู่ท่านหนึ่ง ที่วิสัยทัศน์กว้างมาก คือไม่ฟังความเห็นของใครเลยยกเว้นความเห็นจากหัวของท่านเพียงคนเดียว เป็นผู้อาวุโสที่กีดกันหลายสถาบันในการสมัครเป็นแพทย์พี่เลี้ยง CPIRD บางปีถึงขั้นเหิมเกริมไปประชุมกระทรวงกับใครก็ประกาศเองว่าไม่ให้สถาบันเอกชน แห่งนู้น แห่งนี้สมัครแพทย์พี่เลี้ยง ไม่ให้จับฉลากด้วย
มีความแค้นฝังหุ่นวุ่นวายกับคนจำนวนมาก อาทิเช่น 1.คณบดีของคณะแพทย์คณะหนึ่งในปัจจุบัน ที่อดีตเป็นหัวหน้าคณะแห่งหนึ่ง สมัยอดีตไม่ยอมเมตตาภรรยาของท่านที่ไม่ใช่แพทย์แต่อยากขึ้นเป็นหัวหน้าแผนกหนึ่งของกลุ่มแพทย์ พอปัจจุบันเกษียณ ไปเป็นคณบดีคณะแพทย์ใหม่คณะหนึ่ง จึงถูกกีดกัน ก่นด่า โจมตี อย่างรุนแรง 2.คณบดีนักต่อสู้ผู้ก่อสร้างคณะแพทย์เอกชนแห่งหนึ่ง เคยสู้รบปรบมือกับท่านเพื่อให้ลูกศิษย์ของเขาได้มีสิทธิเท่าเทียมแพทย์ที่อื่น เมื่อคณบดีนักต่อสู้ผู้ก่อสร้างคณะท่านนี้เสียชีวิตไป ผู้อาวุโส CPIRD ท่านนี้ ก็ริดรอนสิทธิทุกอย่างของคณะแพทย์เอกชนคณะนั้น จนเกิดการประท้วงวิ่งเต้นกันวุ่นวายไปหมด
เริ่มจะดรามาแล้วตรู หากอ่านไปอ่านมาเริ่มมึน…. สามารถพักก่อนได้นะครับ
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษา เป็นศูนย์ที่จะมีในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลใหญ่ หลายๆแห่ง ดูแลเกี่ยวกับการศึกษาทางการแพทย์
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษา เรียกย่อๆว่า ศูนย์แพทย์ฯ มักสับสนกับคำว่า องค์กรแพทย์
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษามักมีทุนให้แพทย์พี่เลี้ยง และอาจารย์แพทย์ และส่งเสริมการศึกษาให้โรงพยาบาลนั้นๆ
ถ้าเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับแพทย์ใช้ทุน ที่น้องๆมักสงสัย เช่น จังหวัดในชนบทแห่งหนึ่ง แพทยสภากำหนดโควต้าแพทย์ใช้ทุน (เพิ่มพูนทักษะ) ได้ 20 คน โรงพยาบาลจังหวัดนั้นอาจแบ่งโควต้าแพทย์ใช้ทุน เป็นแพทย์ที่มาจากการจัดสรรพื้นที่ใช้ทุน (จับฉลากจากกระทรวงส่วนกลาง) 6 คน เป็นแพทย์พี่เลี้ยงที่ศูนย์แพทย์นั้นๆจ้างเอง 6 คน เป็นแพทย์พี่เลี้ยงฝากฝึกจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆอีก 4 คน เป็นแพทย์จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชนบท(ที่มีทุนต้นสังกัดก่อนเข้าเรียนแพทย์แล้ว)อีก 4คน เป็นต้น
ในแต่ละจังหวัด แพทย์ใช้ทุนก็จะมีที่มาต่างกันดังที่กล่าว การที่นิสิตนักศึกษาแพทย์ที่จะวางแผนอนาคต สามารถศึกษาได้โดยการหาลู่ทาง ติดต่อโรงเรียนแพทย์/โรงพยาบาลที่อยากไปอยู่แต่เนิ่นๆ โดยจะมีประกาศเป็นระยะๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ของทุกปีเป็นต้นไป แต่ประชากรส่วนใหญ่เองมักรอไปจับฉลากพร้อมกันทีเดียวก็แล้วแต่ครับ
ผู้ที่เสียสละทำงานในศูนย์แพทยศาสตรศึกษา ต้องเป็นนักวิชาการ รักการวิจัย รักการสอน รักการอัพเดทความรู้ให้ทันสมัย
องค์กรแพทย์ จะมีทุกโรงพยาบาล เพื่อประโยชน์สุขของแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นๆ
เงินที่หาได้เข้าองค์กรแพทย์ อาจพาอาจารย์แพทย์จำนวนหนึ่งไปเที่ยวต่างประเทศ (ไม่นับว่าเงินที่ได้มาจากไหน มาจากค่าเรียนนิสิตนักศึกษาแพทย์หรือไม่) กระนั้นองค์กรแพทย์ก็มีอำนาจทุกโรงพยาบาล เพราะถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยังต้องฟัง เหมือนสภาที่ปรึกษา ที่เวลาใครมีปัญหาใดใดต้องนำเข้าเพื่อพูดคุย เจรจา หาข้อยุติ แม้ว่าข้อยุตินั้นอาจเป็นการไม่แก้ปัญหาใดใดที่นำเข้ามาประชุมเลย
องค์กรแพทย์บางที่ ยังมีเบี้ยประชุมอีกด้วยนะ บันเทิงเริงรมย์กันมาก เพราะวิชาชีพแพทย์เราเครียด เครียด เครียดมากกกก
องค์กรแพทย์ที่ดีจะไกล่เกลี่ยปัญหา แก้ไขความบกพร่องต่างๆโดยเร็ว และนำพาให้โรงพยาบาลเจริญยิ่งยวดไปได้
แพทย์เฉพาะทาง คือแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทาง และจำนวนหนึ่งจะเลิกตรวจคนไข้ทั่วไป ไม่ว่าจะทุกข์ร้อนหรือใกล้สิ้นชีพขนาดไหน โดยส่งต่อให้ แพทย์ที่เฉพาะทางด้านอื่นแทน จำนวนหนึ่งอีกเช่นกันที่เข้าใจว่างานการตรวจผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาลรัฐ เบาหวาน ความดัน ไขมัน ผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน เป็นงานของแพทย์ที่ไม่ได้จบเฉพาะทาง หรือแพทย์ชั้นผู้น้อย (แต่ถ้าเป็นในเอกชนจะรีบรักษาทันที)
การเรียนแพทย์เฉพาะทาง คือการต่อยอดความรู้ให้ลึกยิ่งขึ้นในสาขาที่สนใจ แต่แพทย์จำนวนน้อยเท่านั้นที่มั่นหาความรู้ในวงกว้าง พอใครต่อยอดหาความรู้ในวงกว้าง (เช่นแพทย์ที่ต่อเฉพาะทางเวชศาสตร์ชุมชน, แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว, แพทย์แผนกฉุกเฉิน) ก็จะถูกหาว่า รู้ไม่ลึก! อีก
ในอดีต แพทย์เฉพาะทางสาขาหลักๆ คือ สูติ (สูตินรีเวชศาสตร์ ทำคลอด ดูแลเรื่องผู้หญิงๆ) ศัลย์ (ศัลยกรรม ผ่าตัดแหลก) เมด (อายุรกรรม หรือ medicine หมอที่มีความรู้มากรู้ลึก แต่ไม่ได้ผ่าตัด) เด็ก (หมอเด็ก) ออโถ (รู้รึเปล่าว่าคนต่างชาติ ไม่มีคำว่า ออโถ มีแต่ ออร์ธอร์พพิดิกส์ แต่กระนั้น เราก็ชอบ โถ ORTHO เรียกกันแบบไทยๆ เป็นหมอกระดูกและข้อนั่นเอง) ฯลฯ
ต่อมา แพทย์เฉพาะทางในประเทศไทย มีเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกินจะกล่าวหมด ในหลายสาขาเป็นสาขาต้องวิ่งเต้นเส้นสายขั้นสูงสุด เพื่อให้เข้าเรียนได้ และจบมางานหนักน้อยกว่าสาขาอื่นๆ รายได้ดีกว่าสาขาอื่นๆ
ประเทศไทยเรา ระบบอุปถัมภ์ น่ะนะ ต้องเข้าจายยยย
แพทย์ประจำบ้าน มาจากคำว่า residency วงการแพทย์เรียกสั้นๆว่า “เด้นท์” เป็นแพทย์เฉพาะทางที่กำลังเรียนอยู่นั่นเอง
แพทย์ประจำบ้านส่วนใหญ่ต้องฝึกความอดทน เหมือนในหนังจีนกำลังภายใน ไปเรียนรู้กับอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ ต้องแบกน้ำแบกฟืน ทำงานหนักเป็นปีปี กว่าจะได้รับวิชาสุดยอด
กระนั้น ถ้าเรารู้จักการเดินของปูทะเล เราจะพบว่า ถ้าแม่ปูเดินเฉไฉอย่างไร ลูกปูก็เดินตามแบบนั้น
ตัวอย่างของการปฏิบัติตนไม่ดีทั้งหลายแหล่ การเตะตะกร้อ ถนัดเรื่องการโยนภาระ การโยนผู้ป่วยให้แผนกอื่นดูแล การโจมตีด่าทอวิชาชีพอื่น การโบ้ยความผิดความรับผิดชอบ ก็จะมีให้เห็นอย่างทั่วไป เป็นตัวอย่างที่แพทย์ประจำบ้านที่ดีจะไม่ลอกเลียนแบบตาม
แพทย์ประจำบ้านยังเป็นที่รักของผู้แทนยา แม้จะไม่เท่ากับอาจารย์แพทย์ก็ตาม…
อาจารย์แพทย์ โดยทางการ คือเรียนแพทย์เฉพาะทางจบกลับไปทำงานที่ใดที่มีลูกศิษย์ เขาก็จะเริ่มถูกเรียกว่า “อาจารย์”
อาจารย์แพทย์เป็นที่รักของผู้แทนยาทุกบริษัท เพราะมีสิทธิในการจัดซื้อ/จัดจ้างยา ของโรงพยาบาล ที่มากขึ้น
อาจารย์หลายท่านเลือกใช้ยาตามความเหมาะสม แต่บางท่านเลือกใช้ตามโปรโมชั่นของผู้แทนยา การตอบแทนส่วนบุคคล การพาไปเที่ยว ไปเริงรมย์ การเลี้ยงข้าว ในการประชุมผู้แทนยาหลายปีก่อนก็มีข่าวดังว่าผู้แทนยาต่างไม่เรียกอาจารย์เหล่านี้ว่าอาจารย์หมอ พูดทำนองว่าเราต้องไปเลี้ยงข้าวหมxกันอีกแล้วหรือเนี่ย น่าเบื่อจัง!
ประชาชนไทยจำนวนหนึ่งมักมองว่าอาจารย์แพทย์ในต่างจังหวัด โง่ ความรู้ด้อยพัฒนา ไม่เก่งเท่าอาจารย์ในเมืองกรุง แต่ในข้อเท็จจริง ทุกวันนี้ความรู้หมอไทยเกือบทั้งหมดตามก้นฝรั่งเหมือนกันหมด จึงเรียกได้ว่า ฉลาดไม่ต่างกัน = โง่ไม่ต่างกัน
หมอในชนบทหรือโรงเรียนแพทย์ต่างจังหวัดก็สามารถพัฒนาองค์ความรู้ การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ดี สร้างงานวิจัยออกมาได้ไม่แพ้โรงเรียนแพทย์ใหญ่ๆในเมืองกรุง
แต่กระนั้น เมื่อประเทศไทย คนยากจนกันเยอะมาก คนเรียนหมอเพื่อเปลี่ยนชนชั้น เพื่อมีเงินมากขึ้น เพื่อมีงานที่ดีมากขึ้น หน้าที่หลักของอาจารย์แพทย์ไทย กลับไม่ใช่การพัฒนาองค์ความรู้เอง แต่เป็นการแข่งกันตามฝรั่ง ว่าใครตามได้เก่งกว่าใคร ใครตามอ่าน Journal (วารสารวิจัยต่างประเทศ) มากกว่าใคร แทนที่จะทำงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ตนเองเผยแพร่บ้าง
ตัวอย่างที่น่าสนใจของอาจารย์หมอบ้านนอกหลายๆท่าน คือ การประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่อาจไม่ได้ทันสมัยเท่าในเมืองใหญ่ แต่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ไม่แพ้กัน และประหยัด คุ้มค่า ได้ผลดีกว่ากัน ก็เห็นมาเยอะ
บางโรงเรียนแพทย์ชอบพูดว่าเน้นเศรษฐกิจพอเพียง แต่ทุ่มทุนสร้าง ซื้่อเครื่องมือทางการแพทย์ราคาแพงมากมาย แต่ใช้ประโยชน์จริงได้ไม่เท่าไร รักษาผู้ป่วยได้ไม่เท่าไร บางคนอ้างเป็นการศึกษาก็ไม่ว่ากัน แต่การศึกษาในสิ่งที่ฝรั่งพูด ซื้อของตามฝรั่งพูด แต่รักษาคนไทยไม่ได้ความ ไม่น่าจะเรียกการศึกษาเรียนรู้ที่ดี และยังเสียเงินจำนวนมากไปให้บรรษัทยักษ์ข้ามชาติอีกต่างหาก (ดูพี่ยุ่นกันดีไหม ประเทศญี่ปุ่น ชาตินิยมขนาดไหน ทำไมเราไม่สนับสนุนแพทย์วิจัยไทย แพทย์ที่พัฒนากระบวนการรักษาของเราเองให้มากบ้าง)
ดังนั้น กระบวนการรักษาของแพทย์ไทยที่่เป็นข่าวน่าชื่นชม การผลิตยา-สุขภัณฑ์ ของไทยเราเองก็มีมาก ควรสนับสนุนให้มากยิ่งขึ้น
คุณค่าอาจารย์แพทย์ไทย ไม่ได้อยู่ที่ใครอ่านตำราฝรั่งเก่งกว่าใคร แต่อยู่ที่ว่าใครประยุกต์ใช้ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนั้น เพื่อ “คนไทย” ได้ดีที่สุดต่างหาก
ปัญหาอื่นในวงการแพทย์ไทย ที่เป็นเรื่องระบบอาวุโส คือ นิสิตนักศึกษาแพทย์แพทย์ประจำบ้าน ต้องเฝ้าโรงพยาบาล ในขณะที่อาจารย์แพทย์ประสบการณ์เยอะ แม้เป็นเวลาราชการ ก็ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลรัฐก็ได้ วงการสาธารณสุขไทยจึงเจริญยวดยิ่งอย่างที่เห็น ประชาชนผู้มารับบริการจำนวนมากยังรักทักษิณไม่หายเพราะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แต่กลับไม่รู้ว่าการเข้ามารักษากับแพทย์ที่ประสบการณ์น้อย จะเป็นอย่างไร (แพทย์ใหญ่ไม่อยู่และจะอ้างว่า เพื่อการเรียนรู้ของแพทย์น้องๆ) ในขณะที่ระบบทางการแพทย์ก็ไม่เอื้อกับการดูแลบุคลากรดีดีให้ทำงานได้นานๆ จนแพทย์ดีดีหนีไปเอกชนกันหมด สุดท้ายระบบก็จะเหลือแต่คนที่ไม่เอาไหน คือคนที่จะไปสมัครงานเอกชนเขาก็ไม่รับเพราะไม่ได้เรื่อง แทน
ฟังแล้ว โอ้ว….
จึงเอาเรื่องจริงมาล้อเล่นด้วยประการฉะนี้ เพื่ออรรถรสไม่ควรทำตัวเป็นผู้เสียหายในบทความ และขอให้กำลังใจ ขอคารวะบูชาแพทย์ที่ดีในประเทศไทยที่มีจำนวนมาก เป็นตัวอย่างที่ดีแก่วงการแพทย์ ถ้าผู้อ่านเป็นบุคคลในวงการแพทย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่แล้ว นับเป็นเนื้อนาบุญของวงการแพทย์ไทยครับ
ผู้เขียน
หมายเหตุ เขียนไว้เนื้อหาค่อนข้างมาก หากผู้ใดมีข้อชี้แนะ หรือคำถาม สามารถส่งมาที่ chanesd@gmail.com ได้ หรือเขียนถามไว้ด้านล่าง (ข้อความอาจยังไม่ขึ้นในทันที เพราะต้องผ่านการตรวจสอบก่อน) หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยครับ ขอบคุณครับ
พิมพ์วรีย์ มาลา
หนูอยากเรียนเก่งเหมือนพี่เพราะหนูใฝ่ฝันอยากจะเป็นแพทย์ทุกครั้งที่ผลสอบออกหนูจะบอกกับตัวเองว่าถ้าหหนูไม่ได้ที่ 1-3 หนูจะไม่ขอเรียนแพทย์เพราะหนูไม่มีความสามารถพอที่จะเรียนแพทย์ได้ ขณะนี้หนูเรียนอยู่ชั้นป.5
Gla
ไม่เกี่ยวกับผลสอบอย่างเดียวนะครับ เรียนหมอไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งมาก แต่ต้องอดทน และพยายามมากกว่าครับ น้องพิมพ์วรีย์ สู้ๆนะครับ
ลุงดำ
เรียนไม่เก่งก็อดเรียนก่อนเลยหรือเปล่า เพราะสอบเข้าคณะแพทย์ไม่ได้ เด็กเก่ง ๆ เอาไปหมด อาจจะมีเด็กขยันมาก ๆ บางคนได้รางวัลมาบ้าง แต่ก็น้อยมาก
ปุ๋ย
อนาคตปุ๋ยเลือกที่จะเป็นทัตแพทย์ โสต
นาสิก
URL
… [Trackback]…
[…] Read More here: bloggla.com/?p=1307 […]…
ัya
ขอบคุณคะสำหรับข้อมูลดีแบบนี้
อยากเรียนแพทย์มากกเลย อยากเป็นสูติ ตอนนี้อยู่ม.5แล้วไม่รู้ จะทำได้หรือเปล่า
Anonymous
ขอบคุนค้าาา ><
เด็กกสพท57
อ่านแล้วอยากเป็นแพทย์ขึ้นมาทันทีเลยค่ะ ถึงแม้จะเขียนติดตลกไปหน่่อย 555
จริงๆตอนแรกก็อยากเป็นอยู่แล้ว บทความนี้ก็ตั้งนานแล้ว แต่หนูสงสัยคำว่า แพทย์พี่เลี้ยง เลยลองหาในกูเกิ้ลดู
ชอบคุณนะคะ เข้าใจอะไรขึ้นเยอะเลย